เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [11. โสตาปัตติสังยุต]
1. เวฬุทวารวรรค 7. เวฬุทวาเรยยสูตร

คหบดีชาวเวฬุทวารคามได้ฟังข่าวว่า “พระสมณโคดมเป็นศากยบุตรเสด็จออกผนวช
จากศากยตระกูล เสด็จจาริกอยู่ในแคว้นโกศลพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จ
ถึงเวฬุทวารคามโดยลำดับ ท่านพระโคดมนั้นมีกิตติศัพท์อันงามขจรไปอย่างนี้ว่า
‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ด้วยพระองค์
เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึก
ผู้ที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระ
พุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค พระองค์ทรงรู้แจ้งโลกนี้พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก
พรหมโลก และหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์ด้วยพระองค์เอง
แล้ว ทรงประกาศให้ผู้อื่นรู้ตาม ทรงแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความ
งามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุด และทรงประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ
และพยัญชนะบริสุทธิ์ บริบูรณ์ครบถ้วน การได้พบพระอรหันต์ทั้งหลายเช่นนี้เป็น
ความดีอย่างแท้จริง”
ครั้งนั้น พราหมณ์และคหบดีชาวเวฬุทวารคามเหล่านั้น เข้าไปเฝ้าพระ
ผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ บางพวกก็ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวก
ก็สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้วนั่ง ณ ที่สมควร
บางพวกก็ประนมมือไปทางพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกก็ประกาศ
ชื่อและโคตรในสำนักของพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่สมควร บางพวกก็นิ่งเฉยแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควร พากันกราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่ท่านพระโคดม
ข้าพระองค์ทั้งหลายมีความปรารถนา มีความพอใจ มีความประสงค์อย่างนี้ ๆ ว่า
‘ขอเราทั้งหลายพึงอยู่ครองเรือน นอนเบียดเสียดบุตร พึงใช้สอยผงแก่นจันทน์
จากแคว้นกาสี ทัดทรงดอกไม้ ของหอมและเครื่องลูบไล้ พึงยินดีทองและเงิน
หลังจากตายแล้วพึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ข้าพระองค์ทั้งหลายพึงอยู่ครองเรือน
นอนเบียดเสียดบุตร ฯลฯ พึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ด้วยวิธีใด ขอท่านพระ
โคดมโปรดแสดงธรรมด้วยวิธีนั้นแก่ข้าพระองค์ทั้งหลายผู้มีความปรารถนา มีความ
พอใจ มีความประสงค์อย่างนั้น ๆ เถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 19 หน้า :501 }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [11. โสตาปัตติสังยุต]
1. เวฬุทวารวรรค 7. เวฬุทวาเรยยสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย เราจักแสดงธรรม
บรรยายที่ควรน้อมเข้ามาในตนแก่ท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี
เราจักกล่าว” พราหมณ์และคหบดีชาวเวฬุทวารคามเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัส
แล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า “พราหมณ์และคหบดีทั้งหลาย
ธรรมบรรยายที่ควรน้อมเข้ามาในตน เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
1. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘เราอยากเป็นอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข
เกลียดทุกข์ ข้อที่บุคคลพึงปลงชีวิตเราผู้อยากเป็นอยู่ ไม่อยาก
ตาย รักสุขเกลียดทุกข์นั้น ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา
อนึ่ง ข้อที่เราพึงปลงชีวิตผู้อื่น ผู้อยากเป็นอยู่ ไม่อยากตาย
รักสุขเกลียดทุกข์นั้น ก็ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจแม้ของผู้อื่น
สิ่งใดไม่เป็นที่รักไม่เป็นที่พอใจของเรา สิ่งนั้นก็ไม่เป็นที่รัก ไม่
เป็นที่พอใจแม้ของผู้อื่น สิ่งใดไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา
เราจะนำสิ่งนั้นไปผูกมัดกับผู้อื่นได้อย่างไร’ อริยสาวกนั้นพิจารณา
อย่างนี้แล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์เองด้วย ชักชวนผู้อื่น
ให้งดเว้นจากการฆ่าสัตว์ด้วย กล่าวสรรเสริญการงดเว้นจากการ
ฆ่าสัตว์ด้วย กายสมาจารนี้ของอริยสาวกนั้นย่อมบริสุทธิ์ทั้ง 3
ส่วนดังที่กล่าวมานี้
2. พิจารณาเห็นดังนี้ว่า ‘ข้อที่บุคคลพึงถือเอาสิ่งของของเราที่เราไม่
ให้ด้วยอาการขโมยนั้น ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา
อนึ่ง ข้อที่เราพึงถือเอาสิ่งของของผู้อื่นที่เขาไม่ให้ด้วยอาการขโมยนั้น
ก็ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจแม้ของผู้อื่น สิ่งใดไม่เป็นที่รัก ไม่
เป็นที่พอใจของเรา สิ่งนั้นก็ไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจแม้ของ
ผู้อื่น สิ่งใดไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่พอใจของเรา เราจะนำสิ่งนั้น
ไปผูกมัดกับผู้อื่นได้อย่างไร’ อริยสาวกนั้นพิจารณาอย่างนี้
แล้ว เป็นผู้เว้นขาดจากการลักทรัพย์เองด้วย ชักชวนผู้อื่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 19 หน้า :502 }