เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [11. โสตาปัตติสังยุต]
1. เวฬุทวารวรรค 6. ถปติสูตร

“ช่างไม้ทั้งหลาย ความคับแคบอื่นที่คับแคบกว่า และที่นับว่าเป็นความคับ
แคบกว่าความคับแคบนี้ของท่านทั้งหลาย เป็นอย่างไร”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส เมื่อใด พระเจ้าปเสนทิโกศล
มีพระราชประสงค์จะเสด็จไปพระราชอุทยาน เมื่อนั้น ข้าพระองค์ทั้งหลายต้อง
กำหนดช้างทรงของพระเจ้าปเสนทิโกศล แล้วทูลเชิญให้พระชายาทั้งหลายซึ่งเป็นที่
สิเนหาโปรดปรานของพระเจ้าปเสนทิโกศลประทับนั่งเบื้องหน้าพระพักตร์พระองค์หนึ่ง
เบื้องพระปฤษฎางค์พระองค์หนึ่ง กลิ่นของพระชายาเหล่านั้นเปรียบเหมือนกลิ่น
ของนางราชกัญญาผู้ลูบไล้ด้วยของหอมดังขวดน้ำหอมที่เปิดในขณะนั้น อนึ่ง การ
สัมผัสกายของพระชายาเหล่านั้น ก็เป็นเหมือนการสัมผัสกายของนางราชกัญญา
ผู้ดำรงอยู่ในความสุข ดังปุยนุ่น หรือปุยฝ้าย เมื่อนั้น ทั้งช้าง ทั้งพระชายาเหล่านั้น
ทั้งพระราชา ข้าพระองค์ทั้งหลายก็ต้องเฝ้าระวังรักษา แต่ข้าพระองค์ทั้งหลายไม่
รู้สึกว่าจะให้ความคิดเลว ๆ เกิดขึ้นในพระชายาเหล่านั้นได้เลย นี้แลคือความคับแคบ
อื่นที่คับแคบกว่า และที่นับว่าเป็นความคับแคบกว่าความคับแคบนี้ของข้าพระองค์
ทั้งหลาย พระพุทธเจ้าข้า”
“ช่างไม้ทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น การอยู่ครองเรือนในโลกนี้จึงคับแคบ เป็น
ทางมาแห่งธุลี ส่วนบรรพชาปลอดโปร่ง ท่านทั้งหลายอย่าได้ประมาทเลย อริย-
สาวกผู้ประกอบด้วยธรรม 4 ประการ เป็นโสดาบัน ไม่มีทางตกต่ำ มีความแน่
นอนที่จะสำเร็จสัมโพธิในวันข้างหน้า
ธรรม 4 ประการ อะไรบ้าง
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้
1. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดา
ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระ
ผู้มีพระภาค’
2. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
3. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ
4. มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน มีจาคะอันสละแล้ว
มีฝ่ามือชุ่ม ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ ยินดีในการให้ทาน
และการแจกทาน อยู่ครองเรือน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 19 หน้า :499 }