เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [11. โสตาปัตติสังยุต]
1. เวฬุทวารวรรค 3. ทีฆาวุอุปาสกสูตร

3. ทีฆาวุอุปาสกสูตร
ว่าด้วยทีฆาวุอุบาสก

[999] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน สถาน
ที่ให้เหยื่อกระแต เขตกรุงราชคฤห์ สมัยนั้น อุบาสกชื่อทีฆาวุป่วย ได้รับทุกข์
เป็นไข้หนัก ได้เรียกคหบดีชื่อโชติยะผู้เป็นบิดามาขอร้องว่า “มาเถิดคุณพ่อ ขอ
คุณพ่อจงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วย
เศียรเกล้าแล้ว กราบทูลตามคำของผมว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทีฆาวุอุบาสกป่วย
ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก เขาขอกราบพระยุคลบาทของพระผู้มีพระภาคด้วยเศียรเกล้า’
และคุณพ่อจงกราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส
ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดอนุเคราะห์ เสด็จไปเยี่ยมทีฆาวุอุบาสกถึงนิเวศน์
ด้วยเถิด”
โชติยคหบดีรับคำแล้ว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ทีฆาวุอุบาสกป่วย ได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก เขาขอกราบพระยุคลบาทของพระผู้มี
พระภาคด้วยเศียรเกล้า และฝากมากราบทูลอย่างนี้ว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอ
ประทานวโรกาส ขอพระองค์ได้โปรดอนุเคราะห์เสด็จไปเยี่ยมทีฆาวุอุบาสกถึง
นิเวศน์ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์โดยดุษณีภาพ
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสก ถือบาตรและจีวรเสด็จไปยัง
นิเวศน์ของทีฆาวุอุบาสก ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้ว ตรัสถาม
ทีฆาวุอุบาสกดังนี้ว่า “ทีฆาวุ ท่านยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ ทุกขเวทนา
ทุเลาลง ไม่กำเริบขึ้นหรือ อาการทุเลาปรากฏ อาการกำเริบไม่ปรากฏหรือ”
ทีฆาวุอุบาสกทูลตอบว่า “ข้าพระองค์ไม่สบาย จะเป็นอยู่ไม่ได้ ทุกขเวทนา
มีแต่กำเริบขึ้น ไม่ทุเลาลงเลย อาการกำเริบปรากฏ อาการทุเลาไม่ปรากฏ
พระพุทธเจ้าข้า”
“ทีฆาวุ เพราะเหตุนั้น ท่านพึงสำเหนียกว่า ‘เรา
1. จักประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า
‘แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 19 หน้า :491 }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [11. โสตาปัตติสังยุต]
1. เวฬุทวารวรรค 3. ทีฆาวุอุปาสกสูตร

ของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มี
พระภาค’
2. จักประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
3. จักประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ
4. จักประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อ
สมาธิ’
ทีฆาวุ ท่านพึงสำเหนียกอย่างนี้แล”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ องค์เครื่องบรรลุโสดา1 4 ประการใดที่พระผู้มีพระภาค
ได้ทรงแสดงไว้ ธรรม(คือองค์เครื่องบรรลุโสดา)เหล่านั้นมีอยู่ในข้าพระองค์ และ
ข้าพระองค์ก็เห็นธรรมเหล่านั้น
ก็ข้าพระองค์
1. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้าว่า ‘แม้
เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นศาสดาของ
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาค’
2. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม ฯลฯ
3. ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์ ฯลฯ
4. ประกอบด้วยศีลที่พระอริยะชอบใจ ไม่ขาด ฯลฯ เป็นไปเพื่อ
สมาธิ”
“ทีฆาวุ เพราะเหตุนั้น ท่านพึงตั้งอยู่ในองค์เครื่องบรรลุโสดา 4 ประการนี้แล้ว
เจริญธรรมอันเป็นส่วนแห่งวิชชา 6 ประการให้ยิ่งขึ้นไปว่า ‘ทีฆาวุ ในเรื่องนี้
ท่านจงพิจารณา เห็นในสังขารทั้งปวงว่าไม่เที่ยง มีความหมายรู้ในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเป็นทุกข์
มีความหมายรู้ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นอนัตตา มีความหมายรู้ในการละ มีความ
หมายรู้ในการคลายออกได้ มีความหมายรู้ในความดับ’ ทีฆาวุ ท่านพึงสำเหนียก
อย่างนี้แล”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมอันเป็นส่วนแห่งวิชชา 6 ประการใดที่พระผู้มี
พระภาคได้ทรงแสดงไว้ ธรรมเหล่านั้นมีอยู่ในข้าพระองค์ และข้าพระองค์ก็เห็น
ธรรมเหล่านั้น ข้าพระองค์พิจารณาเห็นในสังขารทั้งปวงว่าไม่เที่ยง มีความหมายรู้