เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [10. อานาปานสังยุต]
1. เอกธัมมวรรค 10. กิมิลสูตร

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเสด็จไปที่โรงอาหาร ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่
ปูลาดไว้ แล้วรับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติ
สมาธิแม้นี้ ที่ภิกษุเจริญ ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นสภาพสงบ ประณีต สดชื่น
เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข และทำบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ๆ ให้อันตรธานไป
สงบไปโดยเร็ว
ภิกษุทั้งหลาย ฝุ่นละอองที่ฟุ้งขึ้นท้ายฤดูร้อน ถูกฝนใหญ่นอกฤดูกาล ทำให้
อันตรธานไป สงบไปโดยเร็ว แม้ฉันใด อานาปานสติสมาธิที่ภิกษุเจริญ ทำให้
มากแล้วก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นสภาพสงบ ประณีต สดชื่น เป็นธรรมเครื่องอยู่
เป็นสุข และทำบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ๆ ให้อันตรธานไป สงบไปโดยเร็ว
อานาปานสติสมาธิที่ภิกษุเจริญอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงเป็น
สภาพสงบ ประณีต สดชื่น เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข และทำบาปอกุศล-
ธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ๆ ให้อันตรธานไป สงบไปโดยเร็ว
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้
บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก ฯลฯ
สำเหนียกว่า จะพิจารณาเห็นความสละคืน หายใจเข้า สำเหนียกว่า จะพิจารณา
เห็นความสละคืน หายใจออก’
ภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติสมาธิที่ภิกษุเจริญอย่างนี้แล ทำให้มากแล้วอย่างนี้
จึงเป็นสภาพสงบ ประณีต สดชื่น เป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุข และทำบาปอกุศลธรรม
ที่เกิดขึ้นแล้ว ๆ ให้อันตรธานไป สงบไปโดยเร็ว”1

เวสาลีสูตรที่ 9 จบ

10. กิมิลสูตร
ว่าด้วยพระกิมิละ

[986] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าไผ่ เขตเมืองกิมิลา ณ ที่นั้นแล
พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระกิมิละมาตรัสถามว่า “กิมิละ อานาปานสติ
สมาธิที่ภิกษุเจริญอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก”