เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [4. อินทริยสังยุต]
5. ชราวรรค 10. อาปณสูตร

อะไรมีความสิ้นไปเป็นที่สุด
คือ ชาติ ชรา และมรณะมีความสิ้นไปเป็นที่สุด
ภิกษุปิณโฑลภารทวาชะพิจารณาเห็นว่า ‘ชาติ ชรา และมรณะสิ้นไป’ จึง
พยากรณ์อรหัตตผลว่า ‘เรารู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่
ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”

ปิณโฑลภารทวาชสูตรที่ 9 จบ

10. อาปณสูตร
ว่าด้วยพระธรรมเทศนาที่อาปณนิคม

[520] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวอังคะชื่ออาปณะ แคว้น
อังคะ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกท่านพระสารีบุตรมาตรัสว่า “สารีบุตร
อริยสาวกใดมีศรัทธามั่นคง เลื่อมใสยิ่งในตถาคต อริยสาวกนั้นไม่พึงสงสัยหรือ
เคลือบแคลงในตถาคตหรือในคำสอนของตถาคต”
ท่านพระสารีบุตรกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระอริยสาวกใดมี
ศรัทธามั่นคง เลื่อมใสอย่างยิ่งในพระตถาคต พระอริยสาวกนั้นไม่พึงสงสัยหรือ
เคลือบแคลงในพระตถาคตหรือในคำสอนของพระตถาคต
อนึ่ง พระอริยสาวกผู้มีศรัทธาพึงหวังได้ว่าจักเป็นผู้ปรารภความเพียรเพื่อละ
อกุศลธรรม เข้าถึงกุศลธรรม มีความเข้มแข็ง มีความบากบั่น มั่นคง ไม่ทอดธุระ
ในกุศลธรรมอยู่ ก็วิริยะของพระอริยสาวกนั้นพึงจัดเป็นวิริยินทรีย์
อนึ่ง พระอริยสาวกผู้มีศรัทธา ปรารภความเพียร พึงหวังได้ว่าจักเป็นผู้มีสติ
ประกอบด้วยสติปัญญาเป็นเครื่องรักษาตนอย่างยิ่ง ระลึกนึกถึงสิ่งที่ทำ คำที่ได้พูด
ไว้นานบ้าง ก็สติของพระอริยสาวกนั้นพึงจัดเป็นสตินทรีย์
อนึ่ง พระอริยสาวกผู้มีศรัทธา ปรารภความเพียร มีสติมั่นคง พึงหวังได้ว่า
จักทำนิพพานให้เป็นอารมณ์ ได้สมาธิ ได้เอกัคคตาจิต ก็สมาธิของพระอริยสาวก
นั้นพึงจัดเป็นสมาธินทรีย์

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 19 หน้า :332 }