เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [4. อินทริยสังยุต]
5. ชราวรรค 2. อุณณาภพราหมณสูตร

พราหมณ์ ใจเป็นที่ยึดเหนี่ยวของอินทรีย์ 5 ประการนี้ที่มีอารมณ์ต่างกัน มี
โคจรต่างกัน ไม่เสวยอารมณ์อันเป็นโคจรของกันและกัน และใจย่อมเสวยอารมณ์
อันเป็นโคจรของอินทรีย์ 5 ประการนี้”
“ท่านพระโคดม อะไรเป็นที่ยึดเหนี่ยวของใจ”
“พราหมณ์ สติเป็นที่ยึดเหนี่ยวของใจ”
“ท่านพระโคดม อะไรเป็นที่ยึดเหนี่ยวของสติ”
“พราหมณ์ วิมุตติเป็นที่ยึดเหนี่ยวของสติ”
“ท่านพระโคดม อะไรเป็นที่ยึดเหนี่ยวของวิมุตติ”
“พราหมณ์ นิพพานเป็นที่ยึดเหนี่ยวของวิมุตติ”
“ท่านพระโคดม อะไรเป็นที่ยึดเหนี่ยวของนิพพาน”
“พราหมณ์ ท่านล่วงเลยปัญหาไป ไม่สามารถกำหนดที่สุดแห่งปัญหาได้ ด้วยว่า
พรหมจรรย์ที่บุคคลอยู่จบแล้ว หยั่งลงสู่นิพพาน มีนิพพานเป็นเบื้องหน้า มี
นิพพานเป็นที่สุด”
ลำดับนั้น อุณณาภพราหมณ์ชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้ว
ลุกจากที่นั่ง ถวายอภิวาท ทำประทักษิณแล้วจากไป
ครั้นอุณณาภพราหมณ์จากไปได้ไม่นาน พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลาย
มาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเรือนยอดหรือศาลาเรือนยอด มีหน้าต่างอยู่
ด้านทิศตะวันออก เมื่อดวงอาทิตย์ขึ้น แสง (ดวงอาทิตย์) ส่องเข้าไปทางหน้าต่าง
จะปรากฏที่ไหน”
“ที่ฝาด้านทิศตะวันตก พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้นเหมือนกัน ศรัทธาในตถาคตของ
อุณณาภพราหมณ์ตั้งมั่นหยั่งรากลงแล้วมั่นคง อันสมณะหรือพราหมณ์ เทวดาหรือมาร
พรหมหรือใคร ๆ ในโลกให้หวั่นไหวไม่ได้ ถ้าอุณณาภพราหมณ์พึงทำกาละในเวลา
นี้ไซร้ ย่อมไม่มีสังโยชน์ที่เป็นเครื่องประกอบให้อุณณาภพราหมณ์ต้องมาสู่โลกนี้อีก”

อุณณาภพราหมณสูตรที่ 2 จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [4. อินทริยสังยุต]
5. ชราวรรค 3. สาเกตสูตร

3. สาเกตสูตร
ว่าด้วยพระธรรมเทศนาที่เมืองสาเกต

[513] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอัญชนวัน สถานที่พระราชทาน
อภัยแก่หมู่เนื้อ เขตเมืองสาเกต ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุ
ทั้งหลายมาตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย เหตุที่อินทรีย์ 5 ประการอาศัยแล้วกลาย
เป็นพละ 5 ประการ และที่พละ 5 ประการอาศัยแล้วกลายเป็นอินทรีย์ 5 ประการ
มีอยู่หรือ”
ภิกษุทั้งหลายทูลตอบว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์
ทั้งหลายมีพระผู้มีพระภาคเป็นหลัก มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาค
เป็นที่พึ่ง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส เฉพาะพระผู้มีพระภาคเท่านั้น
จะทรงอธิบายเนื้อความแห่งพระภาษิตนั้นให้แจ่มแจ้งได้ ภิกษุทั้งหลายฟังต่อจาก
พระผู้มีพระภาคแล้วจักทรงจำไว้”
“ภิกษุทั้งหลาย เหตุที่อินทรีย์ 5 ประการอาศัยแล้วกลายเป็นพละ 5 ประการ
และที่พละ 5 ประการอาศัยแล้วกลายเป็นอินทรีย์ 5 ประการมีอยู่
เหตุที่อินทรีย์ 5 ประการอาศัยแล้วกลายเป็นพละ 5 ประการ และที่
พละ 5 ประการอาศัยแล้วกลายเป็นอินทรีย์ 5 ประการ เป็นอย่างไร
คือ สิ่งใดเป็นสัทธินทรีย์ สิ่งนั้นเป็นสัทธาพละ สิ่งใดเป็นสัทธาพละ สิ่งนั้น
เป็นสัทธินทรีย์ สิ่งใดเป็นวิริยินทรีย์ สิ่งนั้นเป็นวิริยพละ สิ่งใดเป็นวิริยพละ สิ่งนั้น
เป็นวิริยินทรีย์ สิ่งใดเป็นสตินทรีย์ สิ่งนั้นเป็นสติพละ สิ่งใดเป็นสติพละ สิ่งนั้น
เป็นสตินทรีย์ สิ่งใดเป็นสมาธินทรีย์ สิ่งนั้นเป็นสมาธิพละ สิ่งใดเป็นสมาธิพละ
สิ่งนั้นเป็นสมาธินทรีย์ สิ่งใดเป็นปัญญินทรีย์ สิ่งนั้นเป็นปัญญาพละ สิ่งใดเป็น
ปัญญาพละ สิ่งนั้นเป็นปัญญินทรีย์
ภิกษุทั้งหลาย แม่น้ำไหลไปสู่ทิศปราจีน บ่าไปสู่ทิศปราจีน หลากไปสู่ทิศ
ปราจีน กลางแม่น้ำนั้นมีเกาะ เหตุที่จะให้นับว่าแม่น้ำนั้นมีกระแสเดียวมีอยู่ และ
เหตุที่จะให้นับว่าแม่น้ำนั้นมี 2 กระแสก็มีอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 19 หน้า :325 }