เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [3. สติปัฏฐานสังยุต]
5. อมตวรรค 2. สมุทยสูตร

5. อมตวรรค
หมวดว่าด้วยอมตะ
1. อมตสูตร
ว่าด้วยอมตะ

[407] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมีจิตตั้งมั่นในสติ-
ปัฏฐาน 4 ประการอยู่เถิด อย่ามีจิตไม่ตั้งมั่นอยู่เลย และอมตะ (นิพพาน) พึงมี
แก่เธอทั้งหลาย
สติปัฏฐาน 4 ประการ อะไรบ้าง
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
1. พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
2. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย ฯลฯ
3. พิจารณาเห็นจิตในจิต ฯลฯ
4. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงมีจิตตั้งมั่นในสติปัฏฐาน 4 ประการนี้อยู่เถิด
อย่ามีจิตไม่ตั้งมั่นอยู่เลย และอมตะพึงมีแก่เธอทั้งหลาย”

อมตสูตรที่ 1 จบ

2. สมุทยสูตร
ว่าด้วยความเกิดแห่งสติปัฏฐาน

[408] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
“ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงความเกิดและความดับแห่งสติปัฏฐาน 4 ประการ
เธอทั้งหลายจงฟัง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 19 หน้า :265 }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [3. สติปัฏฐานสังยุต]
5. อมตวรรค 3. มัคคสูตร

ความเกิดแห่งกาย เป็นอย่างไร
คือ เพราะอาหารเกิด กายจึงเกิด เพราะอาหารดับ กายจึงดับ เพราะผัสสะ
เกิด เวทนาจึงเกิด เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ เพราะนามรูปเกิด จิตจึงเกิด
เพราะนามรูปดับ จิตจึงดับ เพราะมนสิการเกิด ธรรมจึงเกิด เพราะมนสิการดับ
ธรรมจึงดับ”

สมุทยสูตรที่ 2 จบ

3. มัคคสูตร
ว่าด้วยทางเดียว

[409] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย
สมัยหนึ่ง เราเมื่อแรกตรัสรู้อยู่ใต้ต้นไม้อชปาลนิโครธ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา
ตำบลอุรุเวลา หลีกเร้นอยู่ในที่สงัดได้เกิดความรำพึงขึ้นมาว่า ‘ทางนี้เป็นทาง
เดียวเพื่อความหมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงโสกะและปริเทวะ เพื่อดับ
ทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำนิพพานให้แจ้ง คือ สติปัฏฐาน
4 ประการ
สติปัฏฐาน 4 ประการ อะไรบ้าง
คือ ภิกษุ
1. พึงพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
2. พึงพิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลายอยู่ ฯลฯ
3. พึงพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ ฯลฯ
4. พึงพิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มี
สัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
ทางนี้เป็นทางเดียวเพื่อความหมดจดแห่งสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงโสกะและ
ปริเทวะ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุญายธรรม เพื่อทำนิพพานให้แจ้ง คือ
สติปัฏฐาน 4 ประการ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 19 หน้า :266 }