เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [3. สติปัฏฐานสังยุต]
3. สีลัฏฐิติวรรค 1. สีลสูตร

3. สีลัฏฐิติวรรค
หมวดว่าด้วยความดำรงอยู่แห่งศีล
1. สีลสูตร
ว่าด้วยศีลที่เป็นกุศล

[387] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง ท่านพระอานนท์และท่านพระภัททะอยู่ ณ กุกกุฏาราม เขตเมือง
ปาฏลีบุตร ครั้นในเวลาเย็น ท่านพระภัททะออกจากที่หลีกเร้นแล้ว เข้าไปหาท่าน
พระอานนท์ถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควร ได้ถามท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “ท่านอานนท์ พระผู้มีพระภาค
ตรัสศีลที่เป็นกุศล1เหล่านี้ไว้ทรงมีพระประสงค์อะไร”
ท่านพระอานนท์กล่าวสอบถามว่า “ดีละ ดีละ ท่านภัททะ ปัญญาใฝ่รู้ของ
ท่านดีนัก ปฏิภาณดีนัก สอบถามเข้าที ก็ท่านถามว่า ‘ท่านอานนท์ พระผู้มี
พระภาคตรัสศีลที่เป็นกุศลเหล่านี้ไว้ ทรงมีพระประสงค์อะไร’ อย่างนั้นหรือ”
“อย่างนั้น ผู้มีอายุ”
“ท่านภัททะ พระผู้มีพระภาคตรัสศีลที่เป็นกุศลเหล่านี้ไว้ ก็เพียงเพื่อเจริญ
สติปัฏฐาน 4 ประการเท่านั้น
สติปัฏฐาน 4 ประการ อะไรบ้าง
คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้
1. พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
2. พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย ฯลฯ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [3. สติปัฏฐานสังยุต]
3. สีลัฏฐิติวรรค 2. จิรัฏฐิติสูตร

3. พิจารณาเห็นจิตในจิต ฯลฯ
4. พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ
มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้
ท่านภัททะ พระผู้มีพระภาคตรัสศีลที่เป็นกุศลเหล่านี้ไว้ ก็เพียงเพื่อเจริญ
สติปัฏฐาน 4 ประการนี้เท่านั้น”

สีลสูตรที่ 1 จบ

2. จิรัฏฐิติสูตร
ว่าด้วยความดำรงอยู่ได้นานแห่งพระสัทธรรม

[388] ต้นเรื่องนี้เหมือนสูตรแรก
ท่านพระภัททะนั่ง ณ ที่สมควรแล้ว ได้ถามท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า “ท่าน
อานนท์ อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้พระสัทธรรมดำรงอยู่ได้ไม่นานในเมื่อ
พระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว และอะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้พระสัทธรรม
ดำรงอยู่ได้นานในเมื่อพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว”
ท่านพระอานนท์กล่าวสอบถามว่า “ดีละ ดีละ ท่านภัททะ ปัญญาใฝ่รู้ของ
ท่านดีนัก ปฏิภาณดีนัก สอบถามเข้าที ก็ท่านถามว่า ‘ท่านอานนท์ อะไรหนอ
เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้พระสัทธรรมดำรงอยู่ได้ไม่นานในเมื่อพระตถาคตเสด็จ
ปรินิพพานแล้ว และอะไรเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้พระสัทธรรมดำรงอยู่ได้นานในเมื่อ
พระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว’ อย่างนั้นหรือ”
“อย่างนั้น ผู้มีอายุ”
“ผู้มีอายุ เพราะสติปัฏฐาน 4 ประการนี้ที่บุคคลไม่เจริญ ไม่ทำให้มากแล้ว
พระสัทธรรมจึงดำรงอยู่ได้ไม่นานในเมื่อพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว และ
เพราะสติปัฏฐาน 4 ประการนี้ที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว พระสัทธรรมจึงดำรง
อยู่ได้นานในเมื่อพระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 19 หน้า :246 }