เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [3. สติปัฏฐานสังยุต]
2. นาลันทวรรค 9. เสทกสูตร

ภิกษุทั้งหลาย เมทกถาลิกะผู้เป็นศิษย์รับคำของคนจัณฑาลผู้เป็นนักไต่ราว
แล้วได้ขึ้นราวไม้ไผ่ ยืนอยู่บนคอของอาจารย์ คนจัณฑาลผู้เป็นนักไต่ราวได้กล่าวว่า
‘เมทกถาลิกะผู้สหาย เธอจงรักษาเรา เราก็จักรักษาเธอ เราทั้งสองต่างคุ้มครอง
รักษากันและกันอย่างนี้ จักแสดงศิลปะ จักได้ลาภ และจักลงจากราวไม้ไผ่โดย
ความสวัสดี’
ภิกษุทั้งหลาย เมื่ออาจารย์กล่าวอย่างนี้แล้ว เมทกถาลิกะผู้เป็นศิษย์ได้กล่าว
ว่า ‘ท่านอาจารย์ ก็เรื่องนี้ จักเป็นอย่างนั้นหามิได้ ท่านจงรักษาตน ผมก็จักรักษาตน
เราทั้งสองต่างคุ้มครองรักษาตนอย่างนี้ จักแสดงศิลปะ จักได้ลาภ และจักลงจาก
ราวไม้ไผ่โดยความสวัสดี”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสสนับสนุนว่า “อุบายในเรื่องนั้นมีอยู่” เหมือนศิษย์ชื่อ
เมทกถาลิกะได้พูดกับอาจารย์ คือ พระองค์ได้ตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงปฏิบัติสติปัฏฐานด้วยคิดว่า ‘จักรักษาตน’
พึงปฏิบัติสติปัฏฐานด้วยคิดว่า ‘จักรักษาผู้อื่น’ บุคคลเมื่อรักษาตน ชื่อว่ารักษา
ผู้อื่น เมื่อรักษาผู้อื่น ก็ชื่อว่ารักษาตน
บุคคลเมื่อรักษาตน ชื่อว่ารักษาผู้อื่น เป็นอย่างไร
คือ บุคคลเมื่อรักษาตนด้วยการปฏิบัติ ด้วยการเจริญ ด้วยการทำให้มาก
ชื่อว่ารักษาผู้อื่น
บุคคลเมื่อรักษาตน ชื่อว่ารักษาผู้อื่น เป็นอย่างนี้แล
บุคคลเมื่อรักษาผู้อื่น ชื่อว่ารักษาตน เป็นอย่างไร
คือ บุคคลเมื่อรักษาผู้อื่นด้วยความอดทน ด้วยความไม่เบียดเบียน ด้วยจิต
เมตตา ด้วยความเอ็นดู ชื่อว่ารักษาตน
บุคคลเมื่อรักษาผู้อื่น ชื่อว่ารักษาตน เป็นอย่างนี้แล
เธอทั้งหลายพึงปฏิบัติสติปัฏฐานด้วยคิดว่า ‘จักรักษาตน’ พึงปฏิบัติ
สติปัฏฐานด้วยคิดว่า ‘จักรักษาผู้อื่น’
ภิกษุทั้งหลาย บุคคลเมื่อรักษาตน ชื่อว่ารักษาผู้อื่น เมื่อรักษาผู้อื่น ก็ชื่อว่า
รักษาตน”

เสทกสูตรที่ 9 จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [3. สติปัฏฐานสังยุต]
2. นาลันทวรรค 10. ชนปทกัลยาณีสูตร

10. ชนปทกัลยาณีสูตร
ว่าด้วยนางงามในชนบท

[386] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวสุมภะชื่อเสทกะ ใน
แคว้นสุมภะ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้
ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย หมู่มหาชนได้ทราบข่าวว่า ‘มีนางงามในชนบท1 มีนางงามใน
ชนบท’ จึงประชุมกัน ก็นางงามในชนบทนั้นน่าดูยิ่งนักในเวลาฟ้อนรำ น่าฟังยิ่งนัก
ในเวลาขับร้อง หมู่มหาชนได้ทราบข่าวอีกว่า ‘นางงามในชนบทจะฟ้อนรำ จะขับร้อง’
จึงประชุมกันแน่นขนัดประมาณไม่ได้ ทีนั้น มีบุรุษคนหนึ่งผู้รักตัวกลัวตาย รักสุข
เกลียดทุกข์เดินมา หมู่มหาชนพึงพูดกับเขาอย่างนี้ว่า ‘บุรุษผู้เจริญ ท่านพึงนำ
ภาชนะน้ำมันซึ่งเต็มเปี่ยมนี้ผ่านไประหว่างที่ประชุมใหญ่กับนางงามชนบท และจักมี
บุรุษเงื้อดาบติดตามไปข้างหลังๆ โดยบอกว่า ‘ถ้าท่านจักทำน้ำมันหกแม้เพียง
หน่อยหนึ่งในที่ใด ศีรษะของท่านจักขาดตกลงในที่นั้น’
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษนั้นจะไม่ใส่
ใจภาชนะน้ำมันโน้นแล้ว เผลอนำไปในภายนอกเทียวหรือ”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรายกอุปมานี้มา ก็เพื่อให้เข้าใจ
เนื้อความชัดเจน เนื้อความในเรื่องนี้มีดังต่อไปนี้