เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [3. สติปัฏฐานสังยุต]
1. อัมพปาลิวรรค 9. คิลานสูตร

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นบัณฑิต
ฉลาด เฉียบแหลม พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ เมื่อเธอพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ จิตย่อม
ตั้งมั่น ละความเศร้าหมองได้ เธอย่อมกำหนดนิมิตนั้นได้ พิจารณาเห็นเวทนาใน
เวทนาทั้งหลาย ... พิจารณาเห็นจิตในจิต ... พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่
มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ เมื่อเธอ
พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ จิตย่อมตั้งมั่น ละความเศร้าหมองได้ เธอ
ย่อมกำหนดนิมิตนั้นได้
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นเป็นบัณฑิต ฉลาด เฉียบแหลม ย่อมได้ธรรมเครื่อง
อยู่เป็นสุขในปัจจุบัน และได้สติสัมปชัญญะ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้น
เป็นบัณฑิต ฉลาด เฉียบแหลม กำหนดนิมิตแห่งจิตของตน”

สูทสูตรที่ 8 จบ

9. คิลานสูตร
ว่าด้วยพระผู้มีพระภาคทรงพระประชวร

[375] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เวฬุวคาม เขตกรุงเวสาลี
ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “มาเถิด ภิกษุ
ทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเข้าจำพรรษารอบกรุงเวสาลี ตามที่ที่มีเพื่อน ตามที่
ที่มีคนเคยคบกัน ตามที่ที่มีคนเคยคบกันมา เราก็จะเข้าจำพรรษาในเวฬุวคามนี้
เหมือนกัน” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้วเข้าจำพรรษารอบกรุงเวสาลี
ตามที่ที่มีเพื่อน ตามที่ที่มีคนเคยคบกัน ตามที่ที่มีคนเคยคบกันมา ส่วนพระผู้มี
พระภาคก็ทรงเข้าจำพรรษาในเวฬุวคามนั้นเอง
ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงเข้าจำพรรษาแล้ว ทรงพระประชวรอย่าง
รุนแรง มีทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส จวนเจียนปรินิพพาน พระองค์ทรงมี
สติสัมปชัญญะ ทรงอดกลั้น ไม่พรั่นพรึง ทรงพระดำริว่า “การที่เราไม่บอกผู้
อุปัฏฐาก ไม่อำลาภิกษุสงฆ์ปรินิพพานนั้น ไม่เหมาะแก่เรา ทางที่ดี เราควรใช้
ความเพียรขับไล่อาพาธนี้ ดำรงชีวิตสังขารอยู่ต่อไป”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 19 หน้า :222 }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [3. สติปัฏฐานสังยุต]
1. อัมพปาลิวรรค 9. คิลานสูตร

ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงใช้ความเพียรขับไล่พระอาการประชวรนั้น
ทรงดำรงชีวิตสังขารอยู่ อาการพระประชวรจึงสงบ เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงหาย
จากพระประชวรหายจากพระอาการไข้ไม่นาน ได้เสด็จออกจากพระวิหาร ไป
ประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่ปูลาดไว้แล้วในร่มเงาพระวิหาร
ทีนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาท
แล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
เมื่อข้าพระองค์ได้เห็นพระสุขภาพของพระองค์แล้ว ได้เห็นพระองค์ทรงอดทนต่อ
ทุกขเวทนาแล้ว ทำให้ร่างกายของข้าพระองค์อ่อนเปลี้ยประดุจคนเมา ข้าพระองค์
รู้สึกมืดทุกด้าน แม้ธรรมก็ไม่ปรากฏแก่ข้าพระองค์อีกแล้ว เพราะพระอาการไข้ของ
พระผู้มีพระภาค แต่ข้าพระองค์ก็ยังเบาใจอยู่หน่อยหนึ่งว่า ‘พระผู้มีพระภาคจะยัง
ไม่ปรินิพพานตราบเท่าที่ยังไม่ได้ปรารภภิกษุสงฆ์แล้วตรัสพระพุทธพจน์อย่างใด
อย่างหนึ่ง”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ ภิกษุสงฆ์ยังจะหวังได้อะไรในเราอีกเล่า
ธรรมที่เราแสดงแล้วไม่มีในไม่มีนอก1 ในเรื่องธรรมทั้งหลาย ตถาคตไม่มีอาจริยมุฏฐิ2
ผู้ที่คิดว่า เราเท่านั้นจักเป็นผู้บริหารภิกษุสงฆ์ต่อไป หรือว่า ภิกษุสงฆ์จะต้องยึด
เราเท่านั้นเป็นหลัก ผู้นั้นจะต้องปรารภภิกษุสงฆ์แล้วกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่
แต่ตถาคตไม่คิดว่า เราเท่านั้นจักเป็นผู้บริหารภิกษุสงฆ์ต่อไป หรือว่า ภิกษุสงฆ์จะ
ต้องยึดเราเท่านั้นเป็นหลัก แล้วทำไมตถาคตจะต้องปรารภภิกษุสงฆ์กล่าวอย่างใด
อย่างหนึ่งอีกเล่า บัดนี้เราเป็นผู้ชรา แก่ เฒ่า ล่วงกาลมานาน ผ่านวัยมามาก
เรามีวัย 80 ปี ร่างกายของตถาคตยังเป็นไปได้ก็เหมือนกับเกวียนเก่าที่ซ่อมแซม
ด้วยไม้ไผ่ ฉะนั้น ร่างกายของตถาคตยังสบายขึ้น ก็เพราะในเวลาที่ตถาคตเข้า