เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [3. สติปัฏฐานสังยุต]
1. อัมพปาลิวรรค 8. สูทสูตร

มีรสขมจัด ... มีรสเผ็ดจัด ... มีรสหวานจัด ... มีรสเฝื่อน ... มีรสไม่เฝื่อน ...
มีรสเค็ม ... วันนี้ ท่านชอบข้าวและแกงที่มีรสจืดของเรา หรือรับแกงที่มีรสจืด
ตักแกงที่มีรสจืดมาก หรือชมแกงที่มีรสจืด’ พ่อครัวผู้เขลา ไม่ฉลาด ไม่เฉียบ
แหลมนั้น ย่อมไม่ได้เครื่องนุ่งห่ม ไม่ได้ค่าจ้าง ไม่ได้รางวัล ข้อนั้นเพราะเหตุไร
เพราะพ่อครัวนั้นเป็นคนเขลา ไม่ฉลาด ไม่เฉียบแหลม ไม่สังเกตชนิดแห่งอาหาร
ของตน แม้ฉันใด
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เขลา ไม่ฉลาด
ไม่เฉียบแหลม พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ เมื่อเธอพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ จิตไม่ตั้งมั่น
ละความเศร้าหมองไม่ได้ เธอไม่กำหนดนิมิตนั้น พิจารณาเห็นเวทนาในเวทนา
ทั้งหลาย ... พิจารณาเห็นจิตในจิต ... พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่
มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ เมื่อเธอ
พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ จิตไม่ตั้งมั่น ละความเศร้าหมองไม่ได้
เธอไม่กำหนดนิมิตนั้น ภิกษุนั้น ย่อมไม่ได้ธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน และ
ไม่ได้สติสัมปชัญญะ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้นเป็นผู้เขลา ไม่ฉลาด
ไม่เฉียบแหลม ไม่กำหนดนิมิตแห่งจิตของตน
ภิกษุทั้งหลาย พ่อครัวผู้เป็นบัณฑิต ฉลาด เฉียบแหลม บำรุงพระราชา
หรือมหาอำมาตย์ของพระราชาด้วยแกงชนิดต่าง ๆ คือ เปรี้ยวจัดบ้าง ขมจัดบ้าง
เผ็ดจัดบ้าง หวานจัดบ้าง เฝื่อนบ้าง ไม่เฝื่อนบ้าง เค็มบ้าง จืดบ้าง พ่อครัวผู้
เป็นบัณฑิต ฉลาด เฉียบแหลมนั้นสังเกตชนิดแห่งอาหารของตนว่า ‘วันนี้ ท่านชอบ
ข้าวและแกงชนิดนี้ของเรา หรือรับแกงชนิดนี้ ตักแกงชนิดนี้มาก หรือชมแกงชนิดนี้
วันนี้ ท่านชอบข้าวและแกงที่มีรสเปรี้ยวจัดของเรา หรือรับแกงที่มีรสเปรี้ยวจัด ตัก
แกงที่มีรสเปรี้ยวจัดมาก หรือชมแกงที่มีรสเปรี้ยวจัด วันนี้ แกงของเรามีรสขมจัด ...
มีรสเผ็ดจัด ... มีรสหวานจัด ... มีรสเฝื่อน ... มีรสไม่เฝื่อน ... มีรสเค็ม ... วันนี้
ท่านชอบข้าวและแกงที่มีรสจืดของเรา หรือรับแกงที่มีรสจืด ตักแกงที่มีรสจืดมาก
หรือชมแกงที่มีรสจืด’ พ่อครัวผู้เป็นบัณฑิต ฉลาด เฉียบแหลมนั้นย่อมได้เครื่อง
นุ่งห่ม ได้ค่าจ้าง ได้รางวัล ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะพ่อครัวนั้นเป็นบัณฑิต ฉลาด
เฉียบแหลม สังเกตชนิดแห่งอาหารของตน แม้ฉันใด

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 19 หน้า :221 }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [3. สติปัฏฐานสังยุต]
1. อัมพปาลิวรรค 9. คิลานสูตร

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เป็นบัณฑิต
ฉลาด เฉียบแหลม พิจารณาเห็นกายในกายอยู่ มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ
กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ เมื่อเธอพิจารณาเห็นกายในกายอยู่ จิตย่อม
ตั้งมั่น ละความเศร้าหมองได้ เธอย่อมกำหนดนิมิตนั้นได้ พิจารณาเห็นเวทนาใน
เวทนาทั้งหลาย ... พิจารณาเห็นจิตในจิต ... พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่
มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกได้ เมื่อเธอ
พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่ จิตย่อมตั้งมั่น ละความเศร้าหมองได้ เธอ
ย่อมกำหนดนิมิตนั้นได้
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นเป็นบัณฑิต ฉลาด เฉียบแหลม ย่อมได้ธรรมเครื่อง
อยู่เป็นสุขในปัจจุบัน และได้สติสัมปชัญญะ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุนั้น
เป็นบัณฑิต ฉลาด เฉียบแหลม กำหนดนิมิตแห่งจิตของตน”

สูทสูตรที่ 8 จบ

9. คิลานสูตร
ว่าด้วยพระผู้มีพระภาคทรงพระประชวร

[375] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เวฬุวคาม เขตกรุงเวสาลี
ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “มาเถิด ภิกษุ
ทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเข้าจำพรรษารอบกรุงเวสาลี ตามที่ที่มีเพื่อน ตามที่
ที่มีคนเคยคบกัน ตามที่ที่มีคนเคยคบกันมา เราก็จะเข้าจำพรรษาในเวฬุวคามนี้
เหมือนกัน” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้วเข้าจำพรรษารอบกรุงเวสาลี
ตามที่ที่มีเพื่อน ตามที่ที่มีคนเคยคบกัน ตามที่ที่มีคนเคยคบกันมา ส่วนพระผู้มี
พระภาคก็ทรงเข้าจำพรรษาในเวฬุวคามนั้นเอง
ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคทรงเข้าจำพรรษาแล้ว ทรงพระประชวรอย่าง
รุนแรง มีทุกขเวทนาอย่างแสนสาหัส จวนเจียนปรินิพพาน พระองค์ทรงมี
สติสัมปชัญญะ ทรงอดกลั้น ไม่พรั่นพรึง ทรงพระดำริว่า “การที่เราไม่บอกผู้
อุปัฏฐาก ไม่อำลาภิกษุสงฆ์ปรินิพพานนั้น ไม่เหมาะแก่เรา ทางที่ดี เราควรใช้
ความเพียรขับไล่อาพาธนี้ ดำรงชีวิตสังขารอยู่ต่อไป”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 19 หน้า :222 }