เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [3. สติปัฏฐานสังยุต]
1. อัมพปาลิวรรค 6. สกุณัคฆิสูตร

6. สกุณัคฆิสูตร
ว่าด้วยเหยี่ยว

[372] “ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว เหยี่ยวโฉบลงจับนกมูลไถอย่าง
รวดเร็ว ขณะนั้น นกมูลไถกำลังถูกเหยี่ยวพาไป ได้ร้องคร่ำครวญอย่างนี้ว่า ‘เรา
อับโชคมีบุญน้อย เที่ยวไปในแดนอื่นซึ่งไม่ใช่ที่หากิน ถ้าในวันนี้เราเที่ยวหากินใน
แดนหากินที่เป็นของบิดาของตนไซร้ เราก็อาจสู้เหยี่ยวตัวนี้ได้’
เหยี่ยวจึงถามว่า ‘เจ้านกมูลไถ แดนหากินที่เป็นของบิดาของเจ้าคืออะไร’
นกมูลไถตอบว่า ‘คือถิ่นที่เป็นดินก้อนมูลไถที่เขาไถไว้’
ขณะนั้นเหยี่ยวหยิ่งในกำลังของตน เมื่อจะอวดอ้างกำลังของตน จึงปล่อยนก
มูลไถไปด้วยพูดว่า ‘ไปเถิด เจ้านกมูลไถ ถึงเจ้าจะไปในที่นั้นก็ไม่พ้นเรา’
ทีนั้นนกมูลไถจึงไปยังถิ่นที่เป็นดินก้อนมูลไถที่เขาไถไว้ จับที่ก้อนใหญ่ ยืนร้อง
ท้าเหยี่ยวว่า ‘เจ้าเหยี่ยว เจ้าจงมาจับเราเดี๋ยวนี้ เจ้าเหยี่ยว เจ้าจงมาจับเราเดี๋ยวนี้’
ขณะนั้น เหยี่ยวหยิ่งในกำลังของตน เมื่อจะอวดอ้างกำลังของตน จึงหุบปีกทั้ง 2
ลงโฉบนกมูลไถอย่างรวดเร็ว เมื่อนกมูลไถรู้ว่า ‘เหยี่ยวตัวนี้โฉบมาอย่างรวดเร็ว
หมายจะจับเรา’ จึงหลบเข้าซอกก้อนดินนั้นเอง เหยี่ยวทำให้อกกระแทกมูลไถ (ตาย)
ในที่นั้นเอง เรื่องนกมูลไถเที่ยวไปในแดนอื่นซึ่งไม่ใช่ที่หากินก็เป็นเช่นนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายอย่าเที่ยวไปในแดนอื่นที่เป็นอโคจร
เมื่อเธอทั้งหลายเที่ยวไปในแดนอื่นที่เป็นอโคจร มารก็จักได้ช่อง ได้อารมณ์
แดนอื่นที่เป็นอโคจรของภิกษุ เป็นอย่างไร
คือ กามคุณ 5 ประการ
กามคุณ 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. รูปที่พึงรู้แจ้งทางตา ที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก
ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด
2. เสียงที่พึงรู้แจ้งทางหู ...
3. กลิ่นที่พึงรู้แจ้งทางจมูก ...

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 19 หน้า :217 }