เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [2. โพชฌังคสังยุต]
1. ปัพพตวรรค 5. ภิกขุสูตร

5. ภิกขุสูตร
ว่าด้วยภิกษุทูลถามเรื่องโพชฌงค์

[186] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ นั่ง
ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์
ตรัสว่า ‘โพชฌงค์ โพชฌงค์’ ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ พระองค์จึงตรัสว่า ‘โพชฌงค์’
พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ ที่เรียกว่า ‘โพชฌงค์’ เพราะเป็นไป
เพื่อตรัสรู้
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
1. เจริญสติสัมโพชฌงค์อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ
น้อมไปในโวสสัคคะ
ฯลฯ
7. เจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัย
นิโรธ น้อมไปในโวสสัคคะ
เมื่อเธอเจริญโพชฌงค์ 7 ประการนี้อยู่ จิตย่อมหลุดพ้นจากกามาสวะ
ภวาสวะ และอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้วก็รู้ว่า ‘หลุดพ้นแล้ว’ รู้ชัดว่า ‘ชาติ
สิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว1 ทำกิจที่ควรทำ2เสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็น
อย่างนี้อีกต่อไป3’
ภิกษุ ที่เรียกว่า ‘โพชฌงค์’ เพราะเป็นไปเพื่อตรัสรู้ อย่างนี้แล”

ภิกขุสูตรที่ 5 จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [2. โพชฌังคสังยุต]
1. ปัพพตวรรค 6. กุณฑลิยสูตร

6. กุณฑลิยสูตร
ว่าด้วยกุณฑลิยปริพาชก

[187] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าอัญชนวัน สถานที่
พระราชทานอภัยแก่หมู่เนื้อ เขตเมืองสาเกต ครั้งนั้น กุณฑลิยปริพาชกเข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้สนทนาปราศรัยพอเป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึก
ถึงกันแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ท่านพระโคดม
ข้าพเจ้าเที่ยวไปในอาราม เข้าไปหาบริษัท เมื่อข้าพเจ้าบริโภคอาหารเช้าเสร็จแล้ว
ในเวลาหลังอาหารเดินเที่ยวไปทางอารามสู่อาราม ทางอุทยานสู่อุทยาน ณ ที่นั้น
ข้าพเจ้าเห็นสมณพราหมณ์ พวกหนึ่งกำลังกล่าวกถาซึ่งมีวิธีเปลื้องวาทะเป็น
อานิสงส์และมีวิธีโต้วาทะเป็นอานิสงส์ ส่วนท่านพระโคดมมีอะไรเป็นอานิสงส์อยู่”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “กุณฑลิยะ ตถาคตมีวิชชาและวิมุตติเป็นผลานิสงส์”
“ท่านพระโคดม ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำวิชชาและ
วิมุตติให้บริบูรณ์”
“กุณฑลิยะ โพชฌงค์ 7 ประการที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำวิชชา
และวิมุตติให้บริบูรณ์”
“ท่านพระโคดม อนึ่ง ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำโพชฌงค์
7 ประการให้บริบูรณ์”
“กุณฑลิยะ สติปัฏฐาน 4 ประการที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำโพชฌงค์
7 ประการให้บริบูรณ์”
“ท่านพระโคดม อนึ่ง ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำ
สติปัฏฐาน 4 ประการให้บริบูรณ์”
“กุณฑลิยะ สุจริต 3 ประการที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำสติปัฏฐาน 4
ประการให้บริบูรณ์”
“ท่านพระโคดม อนึ่ง ธรรมเหล่าไหนที่บุคคลเจริญ ทำให้มากแล้ว ทำสุจริต
3 ประการให้บริบูรณ์”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 19 หน้า :120 }