เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [1. มัคคสังยุต]
1. อวิชชาวรรค 8. วิภังคสูตร

7. ทุติยอัญญตรภิกขุสูตร
ว่าด้วยภิกษุรูปหนึ่งทูลถามปัญหา สูตรที่ 2

[7] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว
นั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์
ตรัสว่า ‘ธรรมเป็นที่กำจัดราคะ โทสะ และโมหะ’ คำว่า ‘ธรรมเป็นที่กำจัดราคะ
โทสะ และโมหะ’ นี้เป็นชื่อของอะไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ คำว่า ‘ธรรมเป็นที่กำจัดราคะ โทสะ และ
โมหะ’ นี้เป็นชื่อของนิพพานธาตุ1 เพราะเหตุนั้นจึงเรียกว่า ธรรมเป็นที่สิ้นอาสวะ”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ภิกษุนั้นได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคต่อไป
ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่า ‘อมตะ อมตะ’ อมตะเป็นอย่างไร
ทางที่ให้ถึงอมตะเป็นอย่างไร”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ ธรรมเป็นที่สิ้นราคะ โทสะ และโมหะ
นี้เรียกว่า อมตะ อริยมรรคมีองค์ 8 นี้แลเป็นทางที่ให้ถึงอมตะ ได้แก่
1. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ 8. สัมมาสมาธิ

ทุติยอัญญตรภิกขุสูตรที่ 7 จบ

8. วิภังคสูตร
ว่าด้วยการจำแนกอริยมรรค

[8] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดง จักจำแนกอริยมรรคมี
องค์ 8 แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว”
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค [1. มัคคสังยุต]
1. อวิชชาวรรค 8. วิภังคสูตร

“ภิกษุทั้งหลาย อริยมรรคมีองค์ 8 อะไรบ้าง คือ
1. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ 8. สัมมาสมาธิ
สัมมาทิฏฐิ เป็นอย่างไร
คือ ความรู้ในทุกข์ ความรู้ในทุกขสมุทัย (เหตุเกิดทุกข์) ความรู้ในทุกขนิโรธ
(ความดับทุกข์) ความรู้ในทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา (ข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความดับทุกข์)
นี้เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ
สัมมาสังกัปปะ เป็นอย่างไร
คือ ความดำริในเนกขัมมะ (การออกจากกาม) ความดำริในอพยาบาท (ความ
ไม่พยาบาท) ความดำริในอวิหิงสา (การไม่เบียดเบียน)
นี้เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ
สัมมาวาจา เป็นอย่างไร
คือ เจตนาเป็นเหตุเว้นจากมุสาวาท (พูดเท็จ) เจตนาเป็นเหตุเว้นจากปิสุณา-
วาจา (พูดส่อเสียด) เจตนาเป็นเหตุเว้นจากผรุสวาจา (พูดคำหยาบ) เจตนาเป็น
เหตุเว้นจากสัมผัปปลาปะ (พูดเพ้อเจ้อ)
นี้เรียกว่า สัมมาวาจา
สัมมากัมมันตะ เป็นอย่างไร
คือ เจตนาเป็นเหตุเว้นจากปาณาติบาต (การฆ่าสัตว์) เจตนาเป็นเหตุเว้นจาก
อทินนาทาน (การลักทรัพย์) เจตนาเป็นเหตุเว้นจากอพรหมจรรย์ (พฤติกรรมอัน
เป็นข้าศึกต่อพรหมจรรย์)
นี้เรียกว่า สัมมากัมมันตะ
สัมมาอาชีวะ เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ละมิจฉาอาชีวะ สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยสัมมา-
อาชีวะ
นี้เรียกว่า สัมมาอาชีวะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 19 หน้า :11 }