เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [1. สฬายตนสังยุต]
2. ทุติยปัณณาสก์ 5. ฉฬวรรค 1. อทันตอคุตตสูตร

5. ฉฬวรรค
หมวดว่าด้วยอายตนะ 6 ประการ
1. อทันตอคุตตสูตร
ว่าด้วยการไม่ฝึกไม่คุ้มครองอายตนะ

[94] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ผัสสายตนะ 6 ประการนี้ที่บุคคล
ไม่ฝึก ไม่คุ้มครอง ไม่รักษา ไม่สำรวมแล้ว ย่อมนำทุกข์มีประมาณยิ่งมาให้
ผัสสายตนะ 6 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ผัสสายตนะคือจักขุที่บุคคลไม่ฝึก ไม่คุ้มครอง ไม่รักษา ไม่สำรวมแล้ว
ย่อมนำทุกข์มีประมาณยิ่งมาให้ ฯลฯ
4. ผัสสายตนะคือชิวหาที่บุคคลไม่ฝึก ไม่คุ้มครอง ไม่รักษา ไม่สำรวมแล้ว
ย่อมนำทุกข์มีประมาณยิ่งมาให้ ฯลฯ
6. ผัสสายตนะคือมโนที่บุคคลไม่ฝึก ไม่คุ้มครอง ไม่รักษา ไม่สำรวมแล้ว
ย่อมนำทุกข์มีประมาณยิ่งมาให้
ภิกษุทั้งหลาย ผัสสายตนะ 6 ประการนี้แลที่บุคคลไม่ฝึก ไม่คุ้มครอง ไม่รักษา
ไม่สำรวมแล้วย่อมนำทุกข์มีประมาณยิ่งมาให้
ภิกษุทั้งหลาย ผัสสายตนะ 6 ประการนี้ที่บุคคลฝึกดี คุ้มครองดี รักษาดี
สำรวมดีแล้วย่อมนำสุขมีประมาณยิ่งมาให้
ผัสสายตนะ 6 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. ผัสสายตนะคือจักขุที่บุคคลฝึกดี คุ้มครองดี รักษาดี สำรวมดีแล้ว
ย่อมนำสุขมีประมาณยิ่งมาให้ ฯลฯ
4. ผัสสายตนะคือชิวหาที่บุคคลฝึกดี คุ้มครองดี รักษาดี สำรวมดีแล้ว
ย่อมนำสุขมีประมาณยิ่งมาให้ ฯลฯ
6. ผัสสายตนะคือมโนที่บุคคลฝึกดี คุ้มครองดี รักษาดี สำรวมดีแล้ว
ย่อมนำสุขมีประมาณยิ่งมาให้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 18 หน้า :97 }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [1. สฬายตนสังยุต]
2. ทุติยปัณณาสก์ 5. ฉฬวรรค 1. อทันตอคุตตสูตร

ภิกษุทั้งหลาย ผัสสายตนะ 6 ประการนี้แลที่บุคคลฝึกดี คุ้มครองดี รักษาดี
สำรวมดีแล้วย่อมนำสุขยิ่งมาให้”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดาได้ตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้วจึงได้ตรัสคาถา
ประพันธ์ต่อไปอีกว่า
“ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ไม่สำรวมผัสสายตนะ 6 ประการ
นั่นแลในอายตนะ 6 ประการใด ย่อมประสบทุกข์
ส่วนบุคคลเหล่าใดได้การสำรวมอายตนะ 6 ประการนั้น
บุคคลเหล่านั้นมีศรัทธาเป็นเพื่อน เป็นผู้ไม่ชุ่มด้วยราคะอยู่
บุคคลเห็นรูปที่น่าชอบใจหรือเห็นรูปที่ไม่น่าชอบใจแล้ว
พึงบรรเทาทางของราคะในรูปที่น่าชอบใจ
และไม่พึงเสียใจว่า ‘รูปของเราไม่น่ารัก’
ได้ยินเสียงที่น่ารักและไม่น่ารักแล้ว
ไม่พึงกระหายในเสียงที่น่ารัก
และพึงบรรเทาความไม่ชอบใจในเสียงที่ไม่น่ารัก
และไม่พึงเสียใจว่า ‘เสียงของเราไม่น่ารัก’
ได้ดมกลิ่นหอมที่น่าชอบใจ
และได้ดมกลิ่นเหม็นที่ไม่น่าชอบใจแล้ว
พึงบรรเทาความหงุดหงิดในกลิ่นที่ไม่น่าชอบใจ
และไม่พึงพอใจในกลิ่นที่น่าชอบใจ
ได้ลิ้มรสที่ไม่อร่อยและอร่อย
และลิ้มรสที่ไม่อร่อยในบางคราวแล้ว
ไม่พึงติดใจลิ้มรสที่อร่อย
และไม่ควรยินร้ายในรสที่ไม่อร่อย
ถูกผัสสะที่เป็นสุขกระทบแล้วไม่พึงมัวเมา
แม้ถูกผัสสะที่เป็นทุกข์กระทบแล้วก็ไม่พึงหวั่นไหว
ควรวางเฉยผัสสะทั้งสองทั้งที่เป็นสุขและเป็นทุกข์
ไม่ควรยินดี ไม่ควรยินร้ายกับผัสสะอะไร ๆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 18 หน้า :98 }