เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [8. คามณิสังยุต] 7. เขตตูปทสูตร

7. เขตตูปมสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยนา

[359] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปาวาริกัมพวัน เขต
เมืองนาฬันทา ครั้งนั้น ผู้ใหญ่บ้านชื่ออสิพันธกบุตร เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึง
ที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคทรงมีความเอ็นดูมุ่งประโยชน์เกื้อกูลต่อ
สรรพสัตว์มิใช่หรือ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อย่างนั้น ผู้ใหญ่บ้าน ตถาคตมีความเอ็นดูมุ่ง
ประโยชน์เกื้อกูลต่อสรรพสัตว์”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนี้ เพราะเหตุไรพระผู้มีพระภาคจึงทรง
แสดงธรรมโดยเคารพแก่คนบางพวก ไม่ทรงแสดงธรรมโดยเคารพเช่นนั้นแก่คน
บางพวก”
เปรียบการแสดงธรรมกับการหว่านพืชในนา 3 ชนิด
“ผู้ใหญ่บ้าน ถ้าเช่นนั้น เราจักย้อนถามท่านในปัญหาข้อนี้ ท่านพึงตอบ
ตามสมควร ผู้ใหญ่บ้าน ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คหบดีชาวนาในโลกนี้มี
นาอยู่ 3 ชนิด คือ ชนิดหนึ่งเป็นนาดี ชนิดหนึ่งเป็นนาปานกลาง ชนิดหนึ่งเป็น
นาเลว มีดินแข็ง มีดินเค็ม พื้นดินเลว
ผู้ใหญ่บ้าน ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร คหบดีชาวนาประสงค์จะ
หว่านพืช จะหว่านในนาชนิดไหนก่อน คือ นาชนิดดีโน้น ชนิดปานกลางโน้น
หรือชนิดเลวโน้นซึ่งมีดินแข็ง มีดินเค็ม พื้นดินเลว”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คหบดีชาวนาโน้นประสงค์จะหว่านพืช พึงหว่านในนา
ชนิดดีโน้นก่อน แล้วหว่านลงในนาชนิดปานกลางโน้น แล้วหว่านบ้าง ไม่หว่านบ้าง
ในนาชนิดเลวโน้นซึ่งมีดินแข็ง มีดินเค็ม พื้นดินเลว ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะ
โดยที่สุดก็จักเป็นอาหารโค”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 18 หน้า :404 }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [8. คามณิสังยุต] 7. เขตตูปทสูตร

“ผู้ใหญ่บ้าน เราแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง
และมีความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์
บริบูรณ์ครบถ้วนแก่ภิกษุและภิกษุณีทั้งหลายของเรา เปรียบเหมือนคหบดีชาวนา
หว่านพืชในนาชนิดดีโน้นฉะนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะภิกษุและภิกษุณีเหล่านั้น
มีเราเป็นที่พึ่ง มีเราเป็นที่อาศัย มีเราเป็นที่ต้านทาน มีเราเป็นสรณะอยู่
เราแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมีความงาม
ในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน
แก่อุบาสกและอุบาสิกาทั้งหลายของเรา เปรียบเหมือนคหบดีชาวนาหว่านพืชในนา
ชนิดปานกลางโน้นฉะนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะอุบาสกและอุบาสิกาเหล่านั้น
มีเราเป็นที่พึ่ง มีเราเป็นที่อาศัย มีเราเป็นที่ต้านทาน มีเราเป็นสรณะอยู่
และเราแสดงธรรมมีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง และมี
ความงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์
ครบถ้วนแก่อัญเดียรถีย์ สมณะ พราหมณ์ และปริพาชกทั้งหลายของเรา เปรียบ
เหมือนคหบดีชาวนาหว่านพืชในนาชนิดเลวโน้น ซึ่งมีดินแข็ง มีดินเค็ม พื้นดินเลว
ฉะนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะอัญเดียรถีย์ สมณะ พราหมณ์ และปริพาชก
เหล่านั้นพึงรู้ธรรมแม้บทเดียว ความรู้นั้นพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลเพื่อความ
สุขแก่พวกเขาสิ้นกาลนาน
เปรียบการแสดงธรรมกับการตักน้ำใส่โอ่งน้ำ
ผู้ใหญ่บ้าน เปรียบเหมือนบุรุษมีโอ่งน้ำ 3 ใบ คือ โอ่งน้ำใบหนึ่งไม่มีรอยร้าว
น้ำซึมไหลออกไม่ได้ ใบหนึ่งไม่มีรอยร้าวแต่น้ำซึมไหลออกได้ ใบหนึ่งมีรอยร้าว
น้ำซึมไหลออกได้ ท่านเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร บุรุษโน้นประสงค์จะใส่น้ำ พึง
ใส่ในโอ่งน้ำใบไหนก่อน คือ โอ่งน้ำใบที่ไม่มีรอยร้าวน้ำซึมไหลออกไม่ได้ ใบที่ไม่มี
รอยร้าวแต่น้ำซึมไหลออกได้ หรือใบที่มีรอยร้าวน้ำซึมไหลออกได้”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษโน้นประสงค์จะใส่น้ำ พึงใส่ในโอ่งน้ำใบที่ไม่มี
รอยร้าวน้ำซึมไหลออกไม่ได้ก่อน แล้วใส่ในโอ่งน้ำใบที่ไม่มีรอยร้าวแต่น้ำซึมไหล
ออกได้ แล้วใส่บ้าง ไม่ใส่บ้าง ในโอ่งน้ำใบที่มีรอยร้าวน้ำซึมไหลออกได้ ข้อนั้น
เพราะเหตุไร เพราะที่สุดก็จักเป็นน้ำใช้ล้างสิ่งของ”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 18 หน้า :405 }