เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [2. เวทนาสังยุต]
2. รโหคตวรรค 5. ปฐมอานันทสูตร

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เวทนามีเท่าไร ความเกิดแห่งเวทนาเป็นอย่างไร
ความดับแห่งเวทนาเป็นอย่างไร ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งเวทนาเป็นอย่างไร
อะไรเป็นคุณแห่งเวทนา อะไรเป็นโทษแห่งเวทนา อะไรเป็นเครื่องสลัดออกจาก
เวทนา”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “อานนท์ เวทนามี 3 ประการนี้ คือ
1. สุขเวทนา 2. ทุกขเวทนา
3. อทุกขมสุขเวทนา
เหล่านี้เราเรียกว่า เวทนา
เพราะผัสสะเกิดเวทนาจึงเกิด เพราะผัสสะดับเวทนาจึงดับ อริยมรรคมีองค์ 8
นี้แล เป็นปฏิปทาที่ให้ถึง ความดับแห่งเวทนา คือ
1. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ 8. สัมมาสมาธิ
สภาพที่สุขโสมนัสอาศัยเวทนาเกิดขึ้น นี้เป็นคุณแห่งเวทนา
สภาพที่เวทนาไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษ
แห่งเวทนา
ธรรมเป็นที่กำจัดฉันทราคะ ธรรมเป็นที่ละฉันทราคะในเวทนา นี้เป็นเครื่อง
สลัดออกจากเวทนา
ต่อมาเรากล่าวความดับไปแห่งสังขารตามลำดับ คือ
1. เมื่อภิกษุเข้าปฐมฌาน วาจาก็ดับไป ฯลฯ
9. เมื่อเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ สัญญาและเวทนาก็ดับไป
10. ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว ราคะย่อมดับไป โทสะย่อมดับไป โมหะย่อม
ดับไป
ต่อมาเรากล่าวความระงับไปแห่งสังขารตามลำดับ คือ
1. เมื่อภิกษุเข้าปฐมฌาน วาจาก็ระงับไป ฯลฯ
9. เมื่อเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ สัญญาและเวทนาก็ระงับไป
10. ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว ราคะย่อมระงับไป โทสะย่อมระงับไป โมหะ
ย่อมระงับไป

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 18 หน้า :289 }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [2. เวทนาสังยุต]
2. รโหคตวรรค 6. ทุติยอานันทสูตร

อานนท์ ต่อมา เรากล่าวความสงบแห่งสังขารตามลำดับ คือ
1. เมื่อภิกษุเข้าปฐมฌาน วาจาก็สงบ ฯลฯ
5. เมื่อเข้าอากาสานัญจายตนฌาน รูปสัญญาก็สงบ
6. เมื่อเข้าวิญญาณัญจายตนฌาน อากาสานัญจายตนสัญญาก็สงบ
7. เมื่อเข้าอากิญจัญญายตนฌาน วิญญาณัญจายตนสัญญาก็สงบ
8. เมื่อเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน อากิญจัญญายตนสัญญาก็สงบ
9. เมื่อเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ สัญญาและเวทนาก็สงบ
10. ภิกษุผู้สิ้นอาสวะแล้ว ราคะย่อมสงบ โทสะย่อมสงบ โมหะย่อมสงบ”

ปฐมอานันทสูตรที่ 5 จบ

6. ทุติยอานันทสูตร
ว่าด้วยพระอานนท์ สูตรที่ 2

[264] ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระอานนท์ดังนี้ว่า
“อานนท์ เวทนามีเท่าไร ความเกิดแห่งเวทนาเป็นอย่างไร ความดับแห่ง
เวทนาเป็นอย่างไร ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งเวทนาเป็นอย่างไร อะไรเป็นคุณ
แห่งเวทนา อะไรเป็นโทษแห่งเวทนา อะไรเป็นเครื่องสลัดออกจากเวทนา”
ท่านพระอานนท์กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์
ทั้งหลาย มีพระผู้มีพระภาคเป็นหลัก มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาค
เป็นที่พึ่ง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส เฉพาะพระผู้มีพระภาคเท่านั้น
ที่จะทรงอธิบายเนื้อความแห่งภาษิตนั้นให้แจ่มแจ้งได้ ภิกษุทั้งหลายฟังต่อจากพระ
ผู้มีพระภาคแล้วจักทรงจำไว้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “อานนท์ ถ้าเช่นนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เรา
จักกล่าว”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 18 หน้า :290 }