เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [1. สฬายตนสังยุต]
4. จตุตถปัณณาสก์ 4. อาสีวิสวรรค 7. ทุกขธัมมสูตร

ผู้ไม่ตั้งมั่นกายคตาสติ มีปริตตจิตอยู่ และไม่รู้ชัดเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติตาม
ความเป็นจริง อันเป็นที่ดับไปโดยไม่เหลือแห่งธรรมที่เป็นบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแก่เธอ
ความไม่สำรวมเป็นอย่างนี้แล
ความสำรวม เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปทางตาแล้ว ไม่ยินดีในรูปที่น่ารัก ไม่ยินร้าย
ในรูปที่ไม่น่ารัก เป็นผู้ตั้งมั่นกายคตาสติ มีอัปปมาณจิตอยู่ และรู้ชัดเจโตวิมุตติ
และปัญญาวิมุตติตามความเป็นจริง อันเป็นที่ดับไปโดยไม่เหลือแห่งธรรมที่เป็น
บาปอกุศลเหล่านั้นที่เกิดขึ้นแล้วแก่เธอ ฯลฯ ลิ้มรสทางลิ้น ฯลฯ รู้แจ้งธรรมารมณ์
ทางใจแล้ว ไม่ยินดีในธรรมารมณ์ที่น่ารัก ไม่ยินร้ายในธรรมารมณ์ที่ไม่น่ารัก เป็น
ผู้ตั้งมั่นกายคตาสติ มีอัปปมาณจิตอยู่ และรู้ชัดเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติตาม
ความเป็นจริง อันเป็นที่ดับไปโดยไม่เหลือแห่งธรรมที่เป็นบาปอกุศลเหล่านั้นที่เกิดขึ้น
แล้วแก่เธอ
ความสำรวมเป็นอย่างนี้แล
ถ้าเมื่อภิกษุนั้นประพฤติอยู่อย่างนี้ ธรรมที่เป็นบาปอกุศล มีความดำริซ่านไป
เกื้อกูลแก่สังโยชน์ ย่อมเกิดขึ้นเพราะความหลงลืมสติในกาลบางครั้งบางคราว สติ
เกิดขึ้นช้า ขณะนั้นเธอย่อมละ บรรเทาธรรมที่เป็นบาปอกุศลนั้น ทำให้หมดสิ้นไป
ให้ถึงความไม่มีอีกพลันทีเดียว
บุรุษพึงให้หยาดน้ำ 2-3 หยดตกลงในกระทะเหล็กที่ร้อนจัดตลอดวัน หยาด
น้ำตกลงช้า ขณะนั้นหยาดน้ำพึงระเหย เหือดแห้งไปอย่างรวดเร็ว แม้ฉันใด ข้อนี้
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าเมื่อภิกษุนั้นประพฤติอยู่อย่างนี้ ธรรมที่เป็นบาปอกุศล มี
ความดำริซ่านไป เกื้อกูลแก่สังโยชน์ย่อมเกิดขึ้น เพราะความหลงลืมสติในกาลบาง
ครั้งบางคราว สติเกิดขึ้นช้า ขณะนั้นเธอย่อมละ บรรเทาธรรมที่เป็นบาปอกุศลนั้น
ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกพลันทีเดียว
ภิกษุตามรู้ธรรมเครื่องประพฤติและธรรมเครื่องอยู่ โดยอาการที่เมื่อประพฤติ
อยู่ ธรรมที่เป็นบาปอกุศลคืออภิชฌาและโทมนัสจะไม่ครอบงำ เป็นอย่างนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 18 หน้า :253 }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [1. สฬายตนสังยุต]
4. จตุตถปัณณาสก์ 4. อาสีวิสวรรค 7. ทุกขธัมมสูตร

ภิกษุทั้งหลาย ถ้าพระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชา มิตร1 อำมาตย์2
ญาติ3 สาโลหิต4ก็ตาม พึงปวารณาภิกษุผู้ประพฤติอยู่อย่างนี้เพื่อให้ยินดียิ่งด้วย
โภคทรัพย์ทั้งหลายว่า “มาเถิด พระคุณเจ้าผู้เจริญ ผ้ากาสาวพัสตร์เหล่านี้ทำให้
ท่านเร่าร้อนมิใช่หรือ ท่านจะเป็นคนหัวโล้น เที่ยวถือกระเบื้องไปทำไม เชิญเถิด
เชิญท่านกลับมาเป็นคฤหัสถ์ใช้สอยโภคทรัพย์และทำบุญเถิด
ภิกษุทั้งหลาย เป็นไปไม่ได้เลยที่ภิกษุนั้นเมื่อประพฤติอยู่อย่างนี้จักบอกคืน
สิกขากลับมาเป็นคฤหัสถ์
เปรียบเหมือนแม่น้ำคงคาที่ไหลไปทางทิศตะวันออก บ่าไปทางทิศตะวันออก
หลากไปทางทิศตะวันออก ถ้าหมู่มหาชนพากันถือเอาจอบและตะกร้ามาด้วยตั้งใจ
ว่า ‘พวกเราจักช่วยกันทดแม่น้ำคงคานี้ให้ไหลไปข้างหลัง บ่าไปข้างหลัง หลากไป
ข้างหลัง’
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร หมู่มหาชนนั้นพึง
ทดแม่น้ำคงคาให้ไหลไปข้างหลัง บ่าไปข้างหลัง หลากไปข้างหลังได้หรือ”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ไม่ได้ พระพุทธเจ้าข้า”
“ข้อนั้นเพราะเหตุไร”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะแม่น้ำคงคาไหลไปทางทิศตะวันออก บ่าไปทาง
ทิศตะวันออก หลากไปทางทิศตะวันออก หมู่มหาชนจะทดแม่น้ำคงคานั้นให้ไหล
ไปข้างหลัง บ่าไปข้างหลัง หลากไปข้างหลัง ไม่ใช่ทำได้ง่าย แต่หมู่มหาชนนั้นพึงมี
ส่วนแห่งความลำบาก เหน็ดเหนื่อยแน่นอน”