เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [1. สฬายตนสังยุต]
4. จตุตถปัณณาสก์ 4. อาสีวิสวรรค 7. ทุกขธัมมสูตร

ภิกษุเห็นกามโดยอาการที่เมื่อเห็นกามอยู่ ความพอใจด้วยอำนาจความ
ใคร่ ความเยื่อใยด้วยอำนาจความใคร่ ความสยบด้วยอำนาจความใคร่ ความ
เร่าร้อนด้วยอำนาจความใคร่ในกามทั้งหลายจะไม่นอนเนื่อง เป็นอย่างไร
คือ หลุมถ่านเพลิง ลึกกว่าช่วงบุรุษ เต็มด้วยถ่านเพลิง ไม่มีเปลว ไม่มีควัน
ขณะนั้นมีบุรุษคนหนึ่งอยากมีชีวิตอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์เดินมา มี
บุรุษ 2 คนที่แข็งแรงจับแขนเขาคนละข้าง ลากเข้าหาหลุมถ่านเพลิง เขาโอนเอน
กายไปข้างโน้นข้างนี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะบุรุษนั้นรู้ว่า ‘เราตกหลุมถ่านเพลิงนี้
จักถึงความตายหรือทุกข์ปางตาย เพราะตกหลุมถ่านเพลิงนั้น’ แม้ฉันใด ภิกษุก็
ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมเห็นกามซึ่งเปรียบด้วยหลุมถ่านเพลิง โดยอาการที่เมื่อเห็น
กามอยู่ ความพอใจด้วยอำนาจความใคร่ ความเยื่อใยด้วยอำนาจความใคร่ ความ
สยบด้วยอำนาจความใคร่ ความเร่าร้อนด้วยอำนาจความใคร่ในกามทั้งหลายจะไม่
นอนเนื่อง
ภิกษุตามรู้ธรรมเครื่องประพฤติและธรรมเครื่องอยู่ โดยอาการที่เมื่อ
ประพฤติอยู่ ธรรมที่เป็นบาปอกุศลคืออภิชฌาและโทมนัสจะไม่ครอบงำ เป็น
อย่างไร
คือ บุรุษเข้าไปสู่ป่าที่มีหนามมาก ข้างหน้าของเขาก็มีหนาม ข้างหลังก็มี
หนาม ข้างซ้ายก็มีหนาม ข้างขวาก็มีหนาม ข้างล่างก็มีหนาม ข้างบนก็มีหนาม
เขามีสติก้าวไป มีสติถอยกลับ ด้วยคิดว่า ‘หนามอย่าแทงเรา’ แม้ฉันใด ข้อนี้ก็
ฉันนั้นเหมือนกัน เรากล่าวรูปที่น่ารัก น่ายินดีในโลกว่าเป็นหนามในอริยวินัย ภิกษุ
รู้อย่างนี้แล้วพึงรู้จักความไม่สำรวมและความสำรวม
ความไม่สำรวม เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปทางตาแล้ว ย่อมยินดีในรูปที่น่ารัก ย่อมยินร้าย
ในรูปที่ไม่น่ารัก เป็นผู้ไม่ตั้งมั่นกายคตาสติ มีปริตตจิตอยู่ และไม่รู้ชัดเจโตวิมุตติ
และปัญญาวิมุตติตามความเป็นจริง อันเป็นที่ดับไปโดยไม่เหลือแห่งธรรมที่เป็น
บาปอกุศลที่เกิดขึ้นแล้วแก่เธอ ฯลฯ ลิ้มรสทางลิ้น ฯลฯ รู้แจ้งธรรมารมณ์ทาง
ใจแล้ว ย่อมยินดีในธรรมารมณ์ที่น่ารัก ย่อมยินร้ายในธรรมารมณ์ที่ไม่น่ารัก เป็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 18 หน้า :252 }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [1. สฬายตนสังยุต]
4. จตุตถปัณณาสก์ 4. อาสีวิสวรรค 7. ทุกขธัมมสูตร

ผู้ไม่ตั้งมั่นกายคตาสติ มีปริตตจิตอยู่ และไม่รู้ชัดเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติตาม
ความเป็นจริง อันเป็นที่ดับไปโดยไม่เหลือแห่งธรรมที่เป็นบาปอกุศลที่เกิดขึ้นแก่เธอ
ความไม่สำรวมเป็นอย่างนี้แล
ความสำรวม เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เห็นรูปทางตาแล้ว ไม่ยินดีในรูปที่น่ารัก ไม่ยินร้าย
ในรูปที่ไม่น่ารัก เป็นผู้ตั้งมั่นกายคตาสติ มีอัปปมาณจิตอยู่ และรู้ชัดเจโตวิมุตติ
และปัญญาวิมุตติตามความเป็นจริง อันเป็นที่ดับไปโดยไม่เหลือแห่งธรรมที่เป็น
บาปอกุศลเหล่านั้นที่เกิดขึ้นแล้วแก่เธอ ฯลฯ ลิ้มรสทางลิ้น ฯลฯ รู้แจ้งธรรมารมณ์
ทางใจแล้ว ไม่ยินดีในธรรมารมณ์ที่น่ารัก ไม่ยินร้ายในธรรมารมณ์ที่ไม่น่ารัก เป็น
ผู้ตั้งมั่นกายคตาสติ มีอัปปมาณจิตอยู่ และรู้ชัดเจโตวิมุตติและปัญญาวิมุตติตาม
ความเป็นจริง อันเป็นที่ดับไปโดยไม่เหลือแห่งธรรมที่เป็นบาปอกุศลเหล่านั้นที่เกิดขึ้น
แล้วแก่เธอ
ความสำรวมเป็นอย่างนี้แล
ถ้าเมื่อภิกษุนั้นประพฤติอยู่อย่างนี้ ธรรมที่เป็นบาปอกุศล มีความดำริซ่านไป
เกื้อกูลแก่สังโยชน์ ย่อมเกิดขึ้นเพราะความหลงลืมสติในกาลบางครั้งบางคราว สติ
เกิดขึ้นช้า ขณะนั้นเธอย่อมละ บรรเทาธรรมที่เป็นบาปอกุศลนั้น ทำให้หมดสิ้นไป
ให้ถึงความไม่มีอีกพลันทีเดียว
บุรุษพึงให้หยาดน้ำ 2-3 หยดตกลงในกระทะเหล็กที่ร้อนจัดตลอดวัน หยาด
น้ำตกลงช้า ขณะนั้นหยาดน้ำพึงระเหย เหือดแห้งไปอย่างรวดเร็ว แม้ฉันใด ข้อนี้
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ถ้าเมื่อภิกษุนั้นประพฤติอยู่อย่างนี้ ธรรมที่เป็นบาปอกุศล มี
ความดำริซ่านไป เกื้อกูลแก่สังโยชน์ย่อมเกิดขึ้น เพราะความหลงลืมสติในกาลบาง
ครั้งบางคราว สติเกิดขึ้นช้า ขณะนั้นเธอย่อมละ บรรเทาธรรมที่เป็นบาปอกุศลนั้น
ทำให้หมดสิ้นไป ให้ถึงความไม่มีอีกพลันทีเดียว
ภิกษุตามรู้ธรรมเครื่องประพฤติและธรรมเครื่องอยู่ โดยอาการที่เมื่อประพฤติ
อยู่ ธรรมที่เป็นบาปอกุศลคืออภิชฌาและโทมนัสจะไม่ครอบงำ เป็นอย่างนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 18 หน้า :253 }