เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [1. สฬายตนสังยุต]
3. ตติยปัณณาสก์ 5. นวปุราณวรรค 6. อันเตวาสิกสูตร

ส่วนภิกษุผู้ไม่มีอันเตวาสิก ไม่มีอาจารย์ ย่อมอยู่เป็นสุข สบาย เป็นอย่างไร
คือ ธรรมที่เป็นบาปอกุศล มีความดำริซ่านไป เกื้อกูลแก่สังโยชน์ ย่อมไม่
เกิดขึ้นแก่ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะเห็นรูปทางตา ธรรมที่เป็นบาปอกุศลเหล่านั้น
ย่อมไม่อยู่ภายในของภิกษุนั้น เพราะธรรมที่เป็นบาปอกุศลไม่อยู่ภายในของภิกษุนั้น
เหตุนั้นเราจึงเรียกภิกษุนั้นว่า ‘ผู้ไม่มีอันเตวาสิก’ ธรรมที่เป็นบาปอกุศลเหล่านั้น
ย่อมไม่ฟุ้งขึ้นท่วมภิกษุนั้น เพราะธรรมที่เป็นบาปอกุศลไม่ฟุ้งขึ้นท่วมภิกษุนั้น เหตุ
นั้นเราจึงเรียกภิกษุนั้นว่า ‘ผู้ไม่มีอาจารย์’ ฯลฯ
อีกประการหนึ่ง ธรรมที่เป็นบาปอกุศล มีความดำริซ่านไป เกื้อกูลแก่สังโยชน์
ย่อมไม่เกิดขึ้นแก่ภิกษุ เพราะลิ้มรสทางลิ้น ธรรมที่เป็นบาปอกุศลเหล่านั้นย่อม
ไม่อยู่ภายในของภิกษุนั้น เพราะธรรมที่เป็นบาปอกุศลไม่อยู่ภายในของภิกษุนั้น
เหตุนั้นเราจึงเรียกภิกษุนั้นว่า ‘ผู้ไม่มีอันเตวาสิก’ ธรรมที่เป็นบาปอกุศลเหล่านั้น
ย่อมไม่ฟุ้งขึ้นท่วมภิกษุนั้น เพราะธรรมที่เป็นบาปอกุศลไม่ฟุ้งขึ้นท่วมภิกษุนั้น เหตุ
นั้นเราจึงเรียกภิกษุนั้นว่า ‘ผู้ไม่มีอาจารย์’ ฯลฯ
อีกประการหนึ่ง ธรรมที่เป็นบาปอกุศล มีความดำริซ่านไป เกื้อกูลแก่สังโยชน์
ย่อมไม่เกิดขึ้นแก่ภิกษุ เพราะรู้แจ้งธรรมารมณ์ทางใจ ธรรมที่เป็นบาปอกุศล
เหล่านั้นย่อมไม่อยู่ภายในของภิกษุนั้น เพราะธรรมที่เป็นบาปอกุศลไม่อยู่ภายใน
ของภิกษุนั้น เหตุนั้น เราจึงเรียกภิกษุนั้นว่า ‘ผู้ไม่มีอันเตวาสิก’ ธรรมที่เป็นบาป
อกุศลย่อมไม่ฟุ้งขึ้นท่วมภิกษุนั้น เพราะธรรมที่เป็นบาปอกุศลไม่ฟุ้งขึ้นท่วมภิกษุนั้น
เหตุนั้นเราจึงเรียกภิกษุนั้นว่า ‘ผู้ไม่มีอาจารย์’
ภิกษุผู้ไม่มีอันเตวาสิก ไม่มีอาจารย์ ย่อมอยู่เป็นสุข สบาย เป็นอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุประพฤติพรหมจรรย์นี้ ไม่มีอันเตวาสิก ไม่มีอาจารย์
ภิกษุผู้มีอันเตวาสิก มีอาจารย์ ย่อมอยู่เป็นทุกข์ ไม่สบาย ภิกษุผู้ไม่มีอันเตวาสิก
ไม่มีอาจารย์ ย่อมอยู่เป็นสุข สบาย”

อันเตวาสิกสูตรที่ 6 จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [1. สฬายตนสังยุต]
3. ตติยปัณณาสก์ 5. นวปุราณวรรค 7. กิมัตถิยพรหมจริยสูตร

7. กิมัตถิยพรหมจริยสูตร
ว่าด้วยคำถามเกี่ยวกับประโยชน์ของการประพฤติพรหมจรรย์

[152] “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าอัญเดียรถีย์ปริพาชกทั้งหลายพึงถามเธอทั้งหลาย
ว่า ‘ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดมเพื่อ
ต้องการอะไร’
เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้ พึงตอบแก่อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นอย่างนี้
ว่า ‘ผู้มีอายุทั้งหลาย เราทั้งหลายประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพื่อ
กำหนดรู้ทุกข์’
อนึ่ง ถ้าอัญเดียรถีย์ปริพาชกทั้งหลายพึงถามเธอทั้งหลายอย่างนี้ว่า ‘ผู้มีอายุ
ทั้งหลาย ก็ทุกข์ที่ท่านทั้งหลายประพฤติพรหมจรรย์ในพระสมณโคดมเพื่อกำหนดรู้
นั้นเป็นอย่างไร’
เธอทั้งหลายถูกถามอย่างนี้ พึงตอบแก่อัญเดียรถีย์ปริพาชกเหล่านั้นอย่างนี้ว่า
‘ผู้มีอายุทั้งหลาย จักขุเป็นทุกข์ เราทั้งหลายประพฤติพรหมจรรย์ในพระ
ผู้มีพระภาคเพื่อกำหนดรู้จักขุที่เป็นทุกข์นั้น
รูปเป็นทุกข์ เราทั้งหลายประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพื่อกำหนด
รู้รูปที่เป็นทุกข์นั้น
จักขุวิญญาณเป็นทุกข์ เราทั้งหลายประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาค
เพื่อกำหนดรู้จักขุวิญญาณที่เป็นทุกข์นั้น
จักขุสัมผัสเป็นทุกข์ เราทั้งหลายประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระภาคเพื่อ
กำหนดรู้จักขุสัมผัสที่เป็นทุกข์นั้น
แม้ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขหรือทุกข์หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะ
จักขุสัมผัสเป็นปัจจัยก็เป็นทุกข์ เราทั้งหลายประพฤติพรหมจรรย์ในพระผู้มีพระ
ภาคเพื่อกำหนดรู้ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขหรือทุกข์หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ที่เกิดขึ้น
เพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัยที่เป็นทุกข์นั้น ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 18 หน้า :186 }