เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [1. สฬายตนสังยุต]
3. ตติยปัณณาสก์ 5. นวปุราณวรรค 1. กัมมนิโรธสูตร

5. นวปุราณวรรค
หมวดว่าด้วยกรรมใหม่และกรรมเก่า
1. กัมมนิโรธสูตร
ว่าด้วยกรรมและความดับกรรม

[146] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงกรรมใหม่และ
กรรมเก่า ความดับกรรม และปฏิปทาที่ให้ถึงความดับกรรม เธอทั้งหลายจงฟัง
จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว
กรรมเก่า เป็นอย่างไร
คือ จักขุ (ตา) บัณฑิตพึงเห็นว่าเป็นกรรมเก่า ถูกปัจจัยปรุงแต่ง สำเร็จด้วย
เจตนา เป็นที่ตั้งแห่งเวทนา ฯลฯ
ชิวหา (ลิ้น) บัณฑิตพึงเห็นว่าเป็นกรรมเก่า ถูกปัจจัยปรุงแต่ง สำเร็จด้วยเจตนา
เป็นที่ตั้งแห่งเวทนา ฯลฯ
มโน (ใจ) บัณฑิตพึงเห็นว่าเป็นกรรมเก่า ถูกปัจจัยปรุงแต่ง สำเร็จด้วยเจตนา
เป็นที่ตั้งแห่งเวทนา
นี้เราเรียกว่า กรรมเก่า
กรรมใหม่ เป็นอย่างไร
คือ กรรมที่บุคคลทำด้วยกาย วาจา ใจ
นี้เราเรียกว่า กรรมใหม่
ความดับกรรม เป็นอย่างไร
คือ นิโรธที่ถูกต้องวิมุตติ เพราะดับกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรมได้
นี้เราเรียกว่า ความดับกรรม
ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับกรรม อะไรบ้าง
คือ อริยมรรคมีองค์ 8 ได้แก่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 18 หน้า :179 }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [1. สฬายตนสังยุต]
3. ตติยปัณณาสก์ 5. นวปุราณวรรค 2. ปฐมนิพพานสัปปายปฏิปทาสูตร

1. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) 2. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ)
3. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) 4. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ)
5. สัมมาอาชีวะ (เลี้ยงชีพชอบ) 6. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ)
7. สัมมาสติ (ระลึกชอบ) 8. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ)

นี้เราเรียกว่า ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับกรรม
กรรมเก่าเราได้แสดงแล้ว กรรมใหม่เราได้แสดงแล้ว ความดับกรรมเราได้
แสดงแล้ว และปฏิปทาที่ให้ถึงความดับกรรมเราได้แสดงแล้ว ด้วยประการฉะนี้
ภิกษุทั้งหลาย กิจใดที่ศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล ผู้อนุเคราะห์พึง
อาศัยความอนุเคราะห์ กระทำแก่สาวกทั้งหลาย กิจนั้นเราก็ได้กระทำแล้วแก่เธอ
ทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลาย นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง เธอทั้งหลายจงเพ่งพินิจ
อย่าประมาท อย่าได้มีความร้อนใจในภายหลัง
นี้คือคำพร่ำสอนสำหรับเธอทั้งหลายของเรา”

กัมมนิโรธสูตรที่ 1 จบ

2. ปฐมนิพพานสัปปายปฏิปทาสูตร
ว่าด้วยปฏิปทาที่เป็นสัปปายะแก่นิพพาน สูตรที่ 1

[147] “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงปฏิปทาที่เป็นสัปปายะแก่นิพพานแก่เธอ
ทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง ฯลฯ
ปฏิปทาที่เป็นสัปปายะแก่นิพพานนั้น เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเห็นว่า ‘จักขุไม่เที่ยง’ เห็นว่า ‘รูปไม่เที่ยง’ เห็นว่า
‘จักขุวิญญาณไม่เที่ยง’ เห็นว่า ‘จักขุสัมผัสไม่เที่ยง’ เห็นว่า ‘แม้ความเสวยอารมณ์
ที่เป็นสุขหรือทุกข์หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะจักขุสัมผัสเป็นปัจจัยก็ไม่เที่ยง’ ฯลฯ
เห็นว่า ‘ชิวหาไม่เที่ยง’ เห็นว่า ‘รสไม่เที่ยง’ เห็นว่า ‘ชิวหาวิญญาณไม่เที่ยง’
เห็นว่า ‘ชิวหาสัมผัสไม่เที่ยง’ เห็นว่า ‘แม้ความเสวยอารมณ์ที่เป็นสุขหรือทุกข์
หรือมิใช่สุขมิใช่ทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะชิวหาสัมผัสเป็นปัจจัยก็ไม่เที่ยง’ ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 18 หน้า :180 }