เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [1. สฬายตนสังยุต]
3. ตติยปัณณาสก์ 1. โยคักเขมิกวรรค 1. โยคักเขมิสูตร

3. ตติยปัณณาสก์
1. โยคักเขมิวรรค
หมวดว่าด้วยธรรมที่เป็นเหตุให้บุคคลมีความเกษมจากโยคะ
1. โยคักเขมิสูตร
ว่าด้วยธรรมที่เป็นเหตุให้บุคคลมีความเกษมจากโยคะ

[104] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรมบรรยาย1ที่เป็นเหตุ
ให้บุคคลมีความเกษมจากโยคะ2แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง
ธรรมบรรยายที่เป็นเหตุให้บุคคลมีความเกษมจากโยคะ เป็นอย่างไร
คือ รูปที่พึงรู้แจ้งทางตาที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่
พาใจให้กำหนัดมีอยู่ ตถาคตละรูปเหล่านั้นได้แล้ว ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาล
ที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ตถาคต
ได้บอกความเพียรที่ควรประกอบ3เพื่อละรูปเหล่านั้น เพราะเหตุนั้นบัณฑิตจึง
กล่าวว่า ‘ตถาคตเป็นผู้มีความเกษมจากโยคะ’ ฯลฯ
ธรรมารมณ์ที่พึงรู้แจ้งทางใจที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชัก
ให้ใคร่ พาใจให้กำหนัดมีอยู่ ตถาคตละธรรมารมณ์นั้นได้แล้ว ตัดรากถอนโคน
เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคนไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อ
ไปไม่ได้ ตถาคตได้บอกความเพียรที่ควรประกอบเพื่อละธรรมารมณ์นั้น เพราะ
เหตุนั้นบัณฑิตจึงกล่าวว่า ‘ตถาคตเป็นผู้มีความเกษมจากโยคะ’
ภิกษุทั้งหลาย ธรรมบรรยายที่เป็นเหตุให้บุคคลมีความเกษมจากโยคะเป็น
อย่างนี้แล”

โยคักเขมิสูตรที่ 1 จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค [1. สฬายตนสังยุต]
3. ตติยปัณณาสก์ 1. โยคักเขมิกวรรค 2. อุปาทายสูตร

2. อุปาทายสูตร
ว่าด้วยสุขทุกข์อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น

[105] “ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมีอะไร เพราะอาศัยอะไร สุขและทุกข์ภายใน
จึงเกิดขึ้น”
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์ทั้งหลายมีพระผู้มีพระภาคเป็นหลัก”
“เมื่อมีจักขุ เพราะอาศัยจักขุ สุขและทุกข์ภายในจึงเกิดขึ้น ฯลฯ
เมื่อมีชิวหา เพราะอาศัยชิวหา สุขและทุกข์ภายในจึงเกิดขึ้น ฯลฯ
เมื่อมีมโน เพราะอาศัยมโน สุขและทุกข์ภายในจึงเกิดขึ้น
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร จักขุเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา สุขและทุกข์ภายใน
พึงเกิดขึ้น เพราะไม่อาศัยสิ่งนั้นหรือ”
“ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” ฯลฯ
“ชิวหาเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุข”
“เป็นทุกข์ พระพุทธเจ้าข้า”
“ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา สุขและทุกข์ภายใน
พึงเกิดขึ้น เพราะไม่อาศัยสิ่งนั้นหรือ”
“ไม่ใช่อย่างนั้น พระพุทธเจ้าข้า” ฯลฯ
“มโนเที่ยงหรือไม่เที่ยง”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 18 หน้า :118 }