เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [1.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ 1. อุปยวรรค 6.สัมมาสัมพุทธสูตร

สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดหลุดพ้นดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อ
ว่าหมดกิเลสโดยสิ้นเชิง
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดหมดกิเลสโดยสิ้นเชิง สมณะหรือพราหมณ์
เหล่านั้นชื่อว่าไม่มีวัฏฏะเพื่อความปรากฏอีก
ภิกษุชื่อว่าผู้ฉลาดในฐานะ 7 ประการ เป็นอย่างนี้
ภิกษุผู้เพ่งพินิจโดยวิธี 3 วิธี เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
1. เพ่งพินิจเป็นธาตุ
2. เพ่งพินิจเป็นอายตนะ
3. เพ่งพินิจเป็นปฏิจจสมุปบาท
ภิกษุชื่อว่าผู้เพ่งพินิจโดยวิธี 3 วิธี เป็นอย่างนี้
ภิกษุผู้ฉลาดในฐานะ 7 ประการ ผู้เพ่งพินิจโดยวิธี 3 วิธี เราเรียกว่า
‘อุดมบุรุษ ผู้หมดกิเลสโดยสิ้นเชิง อยู่จบพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้”

สัตตัฏฐานสูตรที่ 5 จบ

6. สัมมาสัมพุทธสูตร
ว่าด้วยเหตุที่ทำให้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

[58] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
หลุดพ้นแล้วเพราะเบื่อหน่าย เพราะคลายกำหนัด เพราะดับ เพราะไม่ถือมั่นรูป
บัณฑิตจึงเรียกว่า ‘พระสัมมาสัมพุทธเจ้า’
แม้ภิกษุผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา หลุดพ้นเพราะเบื่อหน่าย เพราะคลายกำหนัด
เพราะดับ เพราะไม่ถือมั่นรูป เราก็เรียกว่า ‘ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 17 หน้า :92 }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [1.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ 1. อุปยวรรค 6.สัมมาสัมพุทธสูตร

พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหลุดพ้นแล้วเพราะเบื่อหน่าย เพราะ
คลายกำหนัด เพราะดับ เพราะไม่ถือมั่นเวทนา บัณฑิตจึงเรียกว่า ‘พระสัมมา-
สัมพุทธเจ้า’
แม้ภิกษุผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา หลุดพ้นเพราะเบื่อหน่าย ฯลฯ เราก็เรียกว่า
‘ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา’
พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าหลุดพ้นแล้วเพราะเบื่อหน่าย เพราะ
คลายกำหนัด เพราะดับ เพราะไม่ถือมั่นสัญญา ฯลฯ สังขาร ฯลฯ วิญญาณ
บัณฑิตจึงเรียกว่า ‘‘พระสัมมาสัมพุทธเจ้า’
แม้ภิกษุผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา หลุดพ้นเพราะเบื่อหน่าย เพราะคลายกำหนัด
เพราะดับ เพราะไม่ถือมั่นวิญญาณ เราก็เรียกว่า ‘ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา’
ในเรื่องนั้นจะผิดแผกแตกต่างกันอย่างไร คือ ระหว่างพระตถาคตอรหันต-
สัมมาสัมพุทธเจ้ากับภิกษุผู้หลุดพ้นด้วยปัญญามีอะไรต่างกัน”
ภิกษุทั้งหลายพากันกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์
ทั้งหลาย มีพระผู้มีพระภาคเป็นหลัก มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระ
ภาคเป็นที่พึ่ง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส เฉพาะพระผู้มีพระภาค
เท่านั้นที่จะทรงอธิบายเนื้อความแห่งพระภาษิตนั้นให้แจ่มแจ้ง ภิกษุทั้งหลายฟังต่อ
จากพระผู้มีพระภาคแล้วจักทรงจำไว้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าเช่นนั้นเธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจ
ให้ดี เราจักกล่าว”
ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทำทางที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
ทำให้รู้จักทางที่ใคร ๆ ไม่รู้จัก บอกทางที่ยังไม่มีใครบอก เป็นผู้รู้จักทาง รู้แจ้งทาง
ฉลาดในทาง ภิกษุทั้งหลาย ส่วนเหล่าสาวกในบัดนี้ เป็นผู้ดำเนินไปตามทางอยู่
เป็นผู้ตามมาในภายหลัง

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 17 หน้า :93 }