เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [1.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ 1. อุปยวรรค 5. สัตตัฏฐานสูตร

วิญญาณ เป็นอย่างไร
คือ วิญญาณ 6 ประการนี้ ได้แก่

1. จักขุวิญญาณ 2. โสตวิญญาณ
3. ฆานวิญญาณ 4. ชิวหาวิญญาณ
5. กายวิญญาณ 6. มโนวิญญาณ

นี้เรียกว่า วิญญาณ
เพราะความเกิดขึ้นแห่งนามรูป ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณจึงมี เพราะความ
ดับแห่งนามรูป ความดับแห่งวิญญาณจึงมี
อริยมรรคมีองค์ 8 นี้แล เป็นปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ คือ
1. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ 8. สัมมาสมาธิ
สภาพที่สุขโสมนัสอาศัยวิญญาณเกิดขึ้น นี้เป็นคุณแห่งวิญญาณ สภาพที่
วิญญาณไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษแห่งวิญญาณ
ธรรมเป็นที่กำจัดฉันทราคะ ธรรมเป็นที่ละฉันทราคะในวิญญาณ นี้เป็นเครื่องสลัด
ออกจากวิญญาณ
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งรู้ชัดวิญญาณ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ
ความดับแห่งวิญญาณ ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ คุณแห่งวิญญาณ
โทษแห่งวิญญาณ เครื่องสลัดออกจากวิญญาณอย่างนี้แล้วปฏิบัติเพื่อความ
เบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับวิญญาณ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น
ชื่อว่าปฏิบัติดีแล้ว
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดปฏิบัติดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่า
มั่นคงในธรรมวินัยนี้
ส่วนสมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดรู้ชัดวิญญาณ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ
ความดับแห่งวิญญาณ ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ คุณแห่งวิญญาณ
โทษแห่งวิญญาณ และเครื่องสลัดออกจากวิญญาณอย่างนี้แล้วเป็นผู้หลุดพ้น
เพราะความเบื่อหน่าย เพราะคลายกำหนัด เพราะดับ เพราะไม่ถือมั่นวิญญาณ
สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่าหลุดพ้นดีแล้ว

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 17 หน้า :91 }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [1.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ 1. อุปยวรรค 6.สัมมาสัมพุทธสูตร

สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดหลุดพ้นดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อ
ว่าหมดกิเลสโดยสิ้นเชิง
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดหมดกิเลสโดยสิ้นเชิง สมณะหรือพราหมณ์
เหล่านั้นชื่อว่าไม่มีวัฏฏะเพื่อความปรากฏอีก
ภิกษุชื่อว่าผู้ฉลาดในฐานะ 7 ประการ เป็นอย่างนี้
ภิกษุผู้เพ่งพินิจโดยวิธี 3 วิธี เป็นอย่างไร
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้
1. เพ่งพินิจเป็นธาตุ
2. เพ่งพินิจเป็นอายตนะ
3. เพ่งพินิจเป็นปฏิจจสมุปบาท
ภิกษุชื่อว่าผู้เพ่งพินิจโดยวิธี 3 วิธี เป็นอย่างนี้
ภิกษุผู้ฉลาดในฐานะ 7 ประการ ผู้เพ่งพินิจโดยวิธี 3 วิธี เราเรียกว่า
‘อุดมบุรุษ ผู้หมดกิเลสโดยสิ้นเชิง อยู่จบพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้”

สัตตัฏฐานสูตรที่ 5 จบ

6. สัมมาสัมพุทธสูตร
ว่าด้วยเหตุที่ทำให้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

[58] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
หลุดพ้นแล้วเพราะเบื่อหน่าย เพราะคลายกำหนัด เพราะดับ เพราะไม่ถือมั่นรูป
บัณฑิตจึงเรียกว่า ‘พระสัมมาสัมพุทธเจ้า’
แม้ภิกษุผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา หลุดพ้นเพราะเบื่อหน่าย เพราะคลายกำหนัด
เพราะดับ เพราะไม่ถือมั่นรูป เราก็เรียกว่า ‘ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 17 หน้า :92 }