เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [1.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ 1. อุปยวรรค 4. อุปาทานปริปวัตตนสูตร

เพราะความเกิดขึ้นแห่งผัสสะ ความเกิดขึ้นแห่งสังขารจึงมี เพราะความดับ
แห่งผัสสะ ความดับแห่งสังขารจึงมี
อริยมรรคมีองค์ 8 นี้แล เป็นปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งสังขาร คือ
1. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ 8. สัมมาสมาธิ
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งรู้ชัดสังขาร ความเกิดขึ้นแห่งสังขาร
ความดับแห่งสังขาร และปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งสังขารอย่างนี้แล้วปฏิบัติเพื่อ
ความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสังขารทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์
เหล่านั้นชื่อว่าปฏิบัติดีแล้ว
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดปฏิบัติดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่า
มั่นคงในธรรมวินัยนี้
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งรู้ชัดสังขาร ความเกิดขึ้นแห่งสังขาร
ความดับแห่งสังขาร และปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งสังขารอย่างนี้แล้ว เป็นผู้หลุดพ้น
เพราะความเบื่อหน่าย เพราะคลายกำหนัด เพราะดับไป ไม่ยึดมั่นถือมั่นสังขาร
สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่าหลุดพ้นดีแล้ว
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดหลุดพ้นดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อ
ว่าหมดกิเลสโดยสิ้นเชิง
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดหมดกิเลสโดยสิ้นเชิง สมณะหรือพราหมณ์
เหล่านั้นชื่อว่าไม่มีวัฏฏะเพื่อความปรากฏอีก
วิญญาณ เป็นอย่างไร
คือ วิญญาณ 6 ประการนี้ ได้แก่
1. จักขุวิญญาณ (ความรู้อารมณ์ทางตา)
2. โสตวิญญาณ (ความรู้อารมณ์ทางหู)
3. ฆานวิญญาณ (ความรู้อารมณ์ทางจมูก)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 17 หน้า :85 }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [1.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ 1. อุปยวรรค 4. อุปาทานปริปวัตตนสูตร

4. ชิวหาวิญญาณ (ความรู้อารมณ์ทางลิ้น)
5. กายวิญญาณ (ความรู้อารมณ์ทางกาย)
6. มโนวิญญาณ (ความรู้อารมณ์ทางใจ)
นี้เรียกว่า วิญญาณ
เพราะความเกิดขึ้นแห่งนามรูป ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณจึงมี เพราะความ
ดับแห่งนามรูป ความดับแห่งวิญญาณจึงมี
อริยมรรคมีองค์ 8 นี้แล เป็นปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งวิญญาณ คือ
1. สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ 8. สัมมาสมาธิ
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งรู้ชัดวิญญาณ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ
ความดับแห่งวิญญาณ และปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งวิญญาณอย่างนี้แล้วปฏิบัติ
เพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับวิญญาณ สมณะหรือพราหมณ์
เหล่านั้นชื่อว่าปฏิบัติดีแล้ว
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดปฏิบัติดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่า
มั่นคงในธรรมวินัยนี้
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่งรู้ชัดวิญญาณ ความเกิดขึ้นแห่งวิญญาณ
ความดับแห่งวิญญาณ และปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งวิญญาณอย่างนี้แล้วเป็น
ผู้หลุดพ้นเพราะความเบื่อหน่าย เพราะคลายกำหนัด เพราะดับไป ไม่ยึดมั่นถือมั่น
วิญญาณ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อว่าหลุดพ้นดีแล้ว
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดหลุดพ้นดีแล้ว สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นชื่อ
ว่าหมดกิเลสโดยสิ้นเชิง
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดหมดกิเลสโดยสิ้นเชิง สมณะหรือพราหมณ์
เหล่านั้นชื่อว่าไม่มีวัฏฏะเพื่อความปรากฏอีก”

อุปาทานปริปวัตตนสูตรที่ 4 จบ