เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [1.ขันธสังยุต]
มูลปัณณาสก์ 5. อัตตทีปวรรค 4.ทุติยอนิจจสูตร

4. ทุติยอนิจจสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่ไม่เที่ยง สูตรที่ 2

[46] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้น
เป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นเธอทั้งหลาย
พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็น
นั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’
เวทนาไม่เที่ยง ฯลฯ
สัญญาไม่เที่ยง ฯลฯ
สังขารไม่เที่ยง ฯลฯ
วิญญาณไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็น
อนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นเธอทั้งหลายพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความ
เป็นจริงอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’
เมื่อเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ การตามเห็นส่วน
เบื้องต้น (อดีต) ก็ไม่มี เมื่อการตามเห็นส่วนเบื้องต้นไม่มี การตามเห็นส่วนเบื้อง
ปลาย (อนาคต) ก็ไม่มี เมื่อการตามเห็นส่วนเบื้องปลายไม่มี ความยึดมั่นอย่าง
แรงกล้าก็ไม่มี เมื่อความยึดมั่นอย่างแรงกล้าไม่มี จิตก็คลายกำหนัดในรูป ฯลฯ
ในเวทนา ฯลฯ ในสัญญา ฯลฯ ในสังขาร จิตก็คลายกำหนัดในวิญญาณ
หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายเพราะไม่ถือมั่น เพราะหลุดพ้นจึงตั้งมั่น เพราะตั้งมั่น
จึงสันโดษ เพราะสันโดษจึงไม่สะดุ้ง เมื่อไม่สะดุ้งย่อมดับไปเอง ภิกษุนั้นรู้ชัดว่า
‘ชาติสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ไม่มีกิจอื่นเพื่อ
ความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”

ทุติยอนิจจสูตรที่ 4 จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [1.ขันธสังยุต]
มูลปัณณาสก์ 5. อัตตทีปวรรค 5. สมนุปัสสนาสูตร

5. สมนุปัสสนาสูตร
ว่าด้วยการพิจารณาเห็น

[47] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง
เมื่อพิจารณา ก็พิจารณาเห็นตนเป็นไปต่าง ๆ สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นทั้งหมด
พิจารณาเห็นอุปาทานขันธ์ (กองอันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดมั่น) ทั้ง 5 ประการ
หรืออุปาทานขันธ์ประการใดประการหนึ่ง
อุปาทานขันธ์ 5 ประการ เป็นอย่างไร
คือ ปุถุชนในโลกนี้ผู้ไม่ได้สดับ ไม่ได้เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของ
พระอริยะ ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาด
ในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ
1. พิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นอัตตา พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีรูป
พิจารณาเห็นรูปในอัตตา หรือพิจารณาเห็นอัตตาในรูป
2. พิจารณาเห็นเวทนา ฯลฯ
3. พิจารณาเห็นสัญญา ฯลฯ
4. พิจารณาเห็นสังขาร ฯลฯ
5. พิจารณาเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตา พิจารณาเห็นอัตตาว่ามี
วิญญาณ พิจารณาเห็นวิญญาณในอัตตา หรือพิจารณาเห็นอัตตา
ในวิญญาณ
การพิจารณาเห็นอย่างนี้ จัดว่าผู้นั้นยึดมั่นถือมั่นว่า ‘เราเป็น’ เมื่อผู้นั้น
ยึดมั่นถือมั่นว่า ‘เราเป็น’ ย่อมเกิดอินทรีย์ 5 ประการ คือ
1. จักขุนทรีย์ (อินทรีย์คือจักขุปสาท)
2. โสตินทรีย์ (อินทรีย์คือโสตปสาท)
3. ฆานินทรีย์ (อินทรีย์คือฆานปสาท)
4. ชิวหินทรีย์ (อินทรีย์คือชิวหาปสาท)
5. กายินทรีย์ (อินทรีย์คือกายปสาท)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 17 หน้า :65 }