เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [1.ขันธสังยุต]
มูลปัณณาสก์ 5. อัตตทีปวรรค 2. ปฏิปทาสูตร

ก็เมื่อภิกษุรู้ว่าวิญญาณไม่เที่ยง แปรผันไป คลายไป ดับไป เห็นด้วย
ปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ‘วิญญาณในกาลก่อนและวิญญาณ
ทั้งปวงในบัดนี้ ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา’ ก็จะละโสกะ
ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสได้ เพราะละโสกะเป็นต้นเหล่านั้นได้ จึงไม่สะดุ้ง
เมื่อไม่สะดุ้ง ย่อมอยู่เป็นสุข ภิกษุผู้อยู่เป็นสุข เรากล่าวว่า ‘ผู้ดับกิเลสแล้วด้วย
องค์ธรรมนั้น”

อัตตทีปสูตรที่ 1 จบ

2. ปฏิปทาสูตร
ว่าด้วยปฏิปทา

[44] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงปฏิปทาที่ให้ถึงสักกาย-
สมุทัย (เหตุเกิดแห่งสักกายะ1) และปฏิปทาที่ให้ถึงสักกายนิโรธ (ความดับแห่ง
สักกายะ) แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง
ปฏิปทาที่ให้ถึงสักกายสมุทัย เป็นอย่างไร
คือ ปุถุชนในโลกนี้ผู้ไม่ได้สดับ ไม่ได้เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของ
พระอริยะ ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาด
ในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ พิจารณาเห็นรูปโดย
ความเป็นอัตตา พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีรูป พิจารณาเห็นรูปในอัตตา หรือ
พิจารณาเห็นอัตตาในรูป
พิจารณาเห็นเวทนาโดยความเป็นอัตตา ฯลฯ
พิจารณาเห็นสัญญาโดยความเป็นอัตตา ฯลฯ
พิจารณาเห็นสังขารโดยความเป็นอัตตา ฯลฯ
พิจารณาเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตา พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณ
พิจารณาเห็นวิญญาณในอัตตา หรือพิจารณาเห็นอัตตาในวิญญาณ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [1.ขันธสังยุต]
มูลปัณณาสก์ 5. อัตตทีปวรรค 3. อนิจจสูตร

นี้เรียกว่า ปฏิปทาที่ให้ถึงสักกายสมุทัย
คำว่า ‘ปฏิปทาที่ให้ถึงสักกายสมุทัย‘ ดังกล่าวมานี้ เราเรียกว่า ‘การพิจารณา
เห็นที่ให้ถึงทุกขสมุทัย’ นี้เป็นใจความในข้อนี้
ปฏิปทาที่ให้ถึงสักกายนิโรธ เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ผู้ได้สดับ ได้เห็นพระอริยะ ฉลาดในธรรมของ
พระอริยะ ได้รับการแนะนำในธรรมของพระอริยะ ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในธรรม
ของสัตบุรุษ ได้รับการแนะนำในธรรมของสัตบุรุษ ไม่พิจารณาเห็นรูปโดยความ
เป็นอัตตา ไม่พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีรูป ไม่พิจารณาเห็นรูปในอัตตา หรือไม่
พิจารณาเห็นอัตตาในรูป
ไม่พิจารณาเห็นเวทนาโดยความเป็นอัตตา ฯลฯ
ไม่พิจารณาเห็นสัญญา ฯลฯ
ไม่พิจารณาเห็นสังขาร ฯลฯ
ไม่พิจารณาเห็นวิญญาณโดยความเป็นอัตตา ไม่พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณ
ไม่พิจารณาเห็นวิญญาณในอัตตา หรือไม่พิจารณาเห็นอัตตาในวิญญาณ
นี้เรียกว่า ปฏิปทาที่ให้ถึงสักกายนิโรธ
คำว่า ‘ปฏิปทาที่ให้ถึงสักกายนิโรธ‘ ดังกล่าวมานี้ เราเรียกว่า ‘การพิจารณา
เห็นที่ให้ถึงทุกขนิโรธ’ นี้เป็นใจความในข้อนี้”

ปฏิปทาสูตรที่ 2 จบ

3. อนิจจสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่ไม่เที่ยง

[45] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย รูปไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้น
เป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นเธอทั้งหลาย
พึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 17 หน้า :62 }