เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [1. ขันธสังยุต]
มูลปัณณาสก์ 1. นกุลปิตุวรรค 8. ทุติยอุปาทานปริตัสสนาสูตร

8. ทุติยอุปาทาปริตัสสนาสูตร
ว่าด้วยความสะดุ้งเพราะถือมั่น สูตรที่ 2

[8] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงความสะดุ้งเพราะถือมั่น
และความไม่สะดุ้งเพราะไม่ถือมั่นแก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง ฯลฯ
ความสะดุ้งเพราะถือมั่น เป็นอย่างไร
คือ ปุถุชนในโลกนี้ผู้ไม่ได้สดับ พิจารณาเห็นรูปว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น
นั่นเป็นอัตตาของเรา’ รูปของเขาแปรผันเป็นอย่างอื่น เพราะรูปแปรผันและเป็น
อย่างอื่น โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงเกิดขึ้นแก่เขา
พิจารณาเห็นเวทนาว่า ‘นั่นของเรา ฯลฯ
พิจารณาเห็นสัญญาว่า ‘นั่นของเรา ฯลฯ
พิจารณาเห็นสังขารว่า ‘นั่นของเรา ฯลฯ
พิจารณาเห็นวิญญาณว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา’
วิญญาณของเขาแปรผันเป็นอย่างอื่น เพราะวิญญาณแปรผันและเป็นอย่างอื่น โสกะ
ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงเกิดขึ้นแก่เขา
ภิกษุทั้งหลาย ความสะดุ้งเพราะถือมั่น เป็นอย่างนี้แล
ความไม่สะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น เป็นอย่างไร
คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ผู้ได้สดับ พิจารณาเห็นรูปว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา
เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’ รูปของอริยสาวกนั้นแปรผันเป็นอย่างอื่น
เพราะรูปแปรผันและเป็นอย่างอื่น โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึง
ไม่เกิดขึ้นแก่อริยสาวกนั้น
พิจารณาเห็นเวทนาว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา ฯลฯ
พิจารณาเห็นสัญญาว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา ฯลฯ
พิจารณาเห็นสังขารว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา ฯลฯ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 17 หน้า :23 }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [1. ขันธสังยุต]
มูลปัณณาสก์ 1. นกุลปิตุวรรค 9. กาลัตตยอนิตตสูตร

พิจารณาเห็นวิญญาณว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตา
ของเรา’ วิญญาณของอริยสาวกนั้นแปรผันเป็นอย่างอื่น เพราะวิญญาณแปรผัน
และเป็นอย่างอื่น โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส และอุปายาสจึงไม่เกิดขึ้นแก่
อริยสาวกนั้น
ภิกษุทั้งหลาย ความไม่สะดุ้งเพราะไม่ถือมั่น เป็นอย่างนี้แล”

ทุติยอุปาทาปริตัสสนาสูตรที่ 8 จบ

9. กาลัตตยอนิจจสูตร
ว่าด้วยสิ่งที่ไม่เที่ยงใน 3 กาล

[9] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย รูปที่เป็นอดีตและอนาคต ไม่เที่ยง
ไม่จำต้องกล่าวถึงรูปที่เป็นปัจจุบันเลย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่
อาลัยในรูปที่เป็นอดีต ไม่เพลิดเพลินรูปที่เป็นอนาคต ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย
เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับรูปที่เป็นปัจจุบัน
เวทนาที่เป็นอดีตและอนาคต ไม่เที่ยง ฯลฯ
สัญญาที่เป็นอดีตและอนาคต ไม่เที่ยง ฯลฯ
สังขารที่เป็นอดีตและอนาคต ไม่เที่ยง ไม่จำต้องกล่าวถึงสังขารที่เป็นปัจจุบัน
เลย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่อาลัยในสังขารที่เป็นอดีต ไม่
เพลิดเพลินสังขารที่เป็นอนาคต ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด
เพื่อดับสังขารที่เป็นปัจจุบัน
วิญญาณที่เป็นอดีตและอนาคต ไม่เที่ยง ไม่จำต้องกล่าวถึงวิญญาณที่เป็น
ปัจจุบันเลย อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมไม่อาลัยในวิญญาณที่เป็นอดีต
ไม่เพลิดเพลินวิญญาณที่เป็นอนาคต ปฏิบัติเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด
เพื่อดับวิญญาณที่เป็นปัจจุบัน”

กาลัตตยอนิจจสูตรที่ 9 จบ