เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [1.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ 2. ธัมมกถิกวรรค 11. สุตวันตสูตร

“ท่านโกฏฐิตะ อุปาทานขันธ์ 5 ประการนี้อันภิกษุแม้ผู้เป็นอรหันต์ก็ควร
มนสิการโดยแยบคาย โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดุจหัวฝี
เป็นดุจลูกศร เป็นของลำบาก เป็นอาพาธ เป็นอย่างอื่น เป็นของทรุดโทรม
เป็นของสูญ เป็นอนัตตา
ท่านโกฏฐิตะ กิจที่จะพึงทำให้ยิ่งขึ้นไป หรือการสั่งสมกิจที่ทำแล้ว ย่อมไม่มี
แก่ภิกษุผู้เป็นอรหันต์ อนึ่ง ธรรมเหล่านี้ที่ภิกษุผู้เป็นอรหันต์เจริญ ทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน และเพื่อสติสัมปชัญญะ”

สีลวันตสูตรที่ 10 จบ

11. สุตวันตสูตร
ว่าด้วยธรรมที่ภิกษุผู้ได้สดับควรมนสิการโดยแยบคาย

[123] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรและท่านพระมหาโกฏฐิตะ อยู่ ณ ป่า
อิสิปตนมฤคทายวัน เขตกรุงพาราณสี ครั้งนั้น ท่านพระมหาโกฏฐิตะออกจากที่
หลีกเร้นในเวลาเย็น เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ ฯลฯ ได้ถามดังนี้ว่า
“ท่านสารีบุตร ธรรมเหล่าไหนอันภิกษุผู้ได้สดับควรมนสิการโดยแยบคาย
ขอรับ”
ท่านพระสารีบุตรตอบว่า “ท่านโกฏฐิตะ อุปาทานขันธ์ 5 ประการอันภิกษุ
ผู้ได้สดับควรมนสิการโดยแยบคาย โดยความเป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ เป็นอนัตตา
อุปาทานขันธ์ 5 ประการ อะไรบ้าง คือ
1. รูปูปาทานขันธ์ ฯลฯ 5. วิญญาณูปาทานขันธ์
ท่านโกฏฐิตะ อุปาทานขันธ์ 5 ประการนี้อันภิกษุผู้ได้สดับควรมนสิการ
โดยแยบคาย โดยความเป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ เป็นอนัตตา เป็นไปได้ที่ภิกษุผู้ได้
สดับมนสิการอุปาทานขันธ์ 5 ประการนี้โดยแยบคาย โดยความเป็นของไม่เที่ยง
ฯลฯ เป็นอนัตตา พึงทำให้แจ้งโสดาปัตติผล”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 17 หน้า :217 }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [1.ขันธสังยุต]
จูฬปัณณาสก์ 2. ธัมมกถิกวรรค 12. กัปปสูตร

“ท่านสารีบุตร ธรรมเหล่าไหนอันภิกษุผู้เป็นโสดาบันควรมนสิการโดย
แยบคาย ขอรับ”
“ท่านโกฏฐิตะ อุปาทานขันธ์ 5 ประการนี้อันภิกษุแม้ผู้เป็นโสดาบันก็ควร
มนสิการโดยแยบคาย โดยความเป็นของไม่เที่ยง ฯลฯ เป็นอนัตตา เป็นไปได้ที่
ภิกษุผู้เป็นโสดาบันมนสิการอุปาทานขันธ์ 5 ประการโดยแยบคาย โดยความเป็น
ของไม่เที่ยง ฯลฯ เป็นอนัตตา พึงทำให้แจ้งสกทาคามิผล ฯลฯ อนาคามิผล ฯลฯ
อรหัตตผล”
“ท่านสารีบุตร ธรรมเหล่าไหนอันภิกษุผู้เป็นอรหันต์ควรมนสิการโดย
แยบคาย ขอรับ”
“ท่านโกฏฐิตะ อุปาทานขันธ์ 5 ประการนี้อันภิกษุแม้ผู้เป็นอรหันต์ก็ควร
มนสิการโดยแยบคาย โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดุจหัวฝี
เป็นดุจลูกศร เป็นความคับแค้น เป็นอาพาธ เป็นอย่างอื่น เป็นของทรุดโทรม
เป็นของสูญ เป็นอนัตตา
ท่านโกฏฐิตะ กิจที่จะพึงทำให้ยิ่งขึ้นไป หรือการสั่งสมกิจที่ทำแล้ว ย่อมไม่มี
แก่ภิกษุผู้อรหันต์ อนึ่ง ธรรมเหล่านี้ที่ภิกษุผู้เป็นอรหันต์เจริญ ทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน และเพื่อสติสัมปชัญญะ”

สุตวันตสูตรที่ 11 จบ

12. กัปปสูตร
ว่าด้วยพระกัปปะ

[124] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น ท่านพระกัปปะเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ฯลฯ นั่ง ณ ที่
สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อบุคคลรู้
เห็นอย่างไร จึงจะไม่มีอหังการ มมังการ และมานานุสัยในกายที่มีวิญญาณนี้
และในนิมิตทั้งปวงในภายนอก”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 17 หน้า :218 }