เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [1.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ 5. ปุปผวรรค 8. ทุติยคัททูลพัทธสูตร

8. ทุติยคัททูลพัทธสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยสุนัขถูกล่าม สูตรที่ 2

[100] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย สงสารนี้มีเบื้องต้นเบื้องปลายที่ใคร ๆ
รู้ไม่ได้ เบื้องต้นเบื้องปลายไม่ปรากฏแก่สัตว์ทั้งหลายผู้มีอวิชชาเป็นเครื่องปิดกั้น
มีตัณหาเป็นเครื่องประกอบไว้ ท่องเที่ยวไป
สุนัขที่เขาผูกไว้ด้วยเชือก ล่ามไว้ที่หลักหรือเสาที่แข็งแรง ถ้าแม้สุนัขนั้นเดิน
ก็เดินใกล้หลักหรือเสานั้นเอง ถ้าแม้สุนัขนั้นยืน ก็ยืนใกล้หลักหรือเสานั้นเอง ถ้า
แม้สุนัขนั้นหมอบ ก็หมอบใกล้หลักหรือเสานั้นเอง ถ้าแม้สุนัขนั้นนอน ก็นอนใกล้
หลักหรือเสานั้นเอง แม้ฉันใด ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับก็ฉันนั้นเหมือนกัน พิจารณาเห็น
รูปว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา’ ... เวทนา ... สัญญา ...
สังขาร ... พิจารณาเห็นวิญญาณว่า ‘นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นอัตตาของเรา’
ปุถุชนนั้น ถ้าแม้เขาเดินก็เดินใกล้อุปาทานขันธ์ 5 ประการนี้เอง ถ้าแม้เขายืนก็
ยืนใกล้อุปาทานขันธ์ 5 ประการนี้เอง ถ้าแม้เขานั่งก็นั่งใกล้อุปาทานขันธ์ 5
ประการนี้เอง ถ้าแม้เขานอนก็นอนใกล้อุปาทานขันธ์ 5 ประการนี้เอง

ความเศร้าหมองและความผ่องแผ้วแห่งจิต

ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลายควรพิจารณาจิตของตนเนือง ๆ
ว่า ‘จิตนี้เศร้าหมองแล้วด้วยราคะ โทสะ โมหะ เป็นเวลานาน’ สัตว์ทั้งหลาย
เศร้าหมองเพราะจิตเศร้าหมอง สัตว์ทั้งหลายบริสุทธิ์เพราะจิตผ่องแผ้ว ภาพ
จิตรกรรมที่เขาเขียนไว้ เธอทั้งหลายเห็นแล้วหรือ”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “เห็นแล้ว พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย แม้ภาพจิตรกรรมที่เขาเขียนไว้นั้น จิตรกรก็คิดด้วยจิตนั่นเอง
จิตนั่นเองวิจิตรกว่าภาพจิตรกรรมที่เขาเขียนไว้นั้น เพราะเหตุนั้นแล เธอทั้งหลาย
ควรพิจารณาจิตของตนเนือง ๆ ว่า ‘จิตนี้เศร้าหมองแล้วด้วยราคะ โทสะ โมหะ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 17 หน้า :191 }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [1.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ 5. ปุปผวรรค 9. วาสิชฏิสูตร

เป็นเวลานาน’ สัตว์ทั้งหลายเศร้าหมองเพราะจิตเศร้าหมอง สัตว์ทั้งหลายบริสุทธิ์
เพราะจิตผ่องแผ้ว
เราไม่พิจารณาเห็นสัตว์อื่นแม้เพียงหมู่เดียวซึ่งวิจิตรเหมือนอย่างสัตว์ดิรัจฉาน
นี้เลย สัตว์ดิรัจฉานแม้เหล่านั้นจิตรกรก็คิดด้วยจิตนั่นเอง จิตนั่นเองวิจิตรกว่า
สัตว์ดิรัจฉานแม้เหล่านั้น เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลายควรพิจารณาจิตของตนเนือง ๆ
ว่า ‘จิตนี้เศร้าหมองแล้วด้วยราคะ โทสะ โมหะ เป็นเวลานาน’ สัตว์ทั้งหลาย
เศร้าหมองเพราะจิตเศร้าหมอง สัตว์ทั้งหลายบริสุทธิ์เพราะจิตผ่องแผ้ว
ภิกษุทั้งหลาย ช่างย้อมหรือจิตรกร เมื่อมีเครื่องย้อมก็ดี ครั่งก็ดี ขมิ้นก็ดี
สีเขียวก็ดี สีแดงก็ดี พึงเขียนรูปสตรีหรือรูปบุรุษมีอวัยวะน้อยใหญ่ครบทุกส่วน
ลงบนแผ่นกระดาน ฝา หรือแผ่นผ้าที่เกลี้ยงเกลา แม้ฉันใด ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ
ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อจะให้เกิด ก็ให้รูปนั่นเองเกิด ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร
... เมื่อจะให้เกิด ก็ให้วิญญาณนั่นเองเกิด
ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะเข้าใจความข้อนั้นว่าอย่างไร รูปเที่ยงหรือไม่
เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง”
“ไม่เที่ยง พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล ฯลฯ อริยสาวกผู้ได้สดับเห็นอยู่อย่างนี้ ฯลฯ
รู้ชัดว่า ... ไม่มีกิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้อีกต่อไป”

ทุติยคัททูลพัทธสูตรที่ 8 จบ

9. วาสิชฏสูตร
ว่าด้วยอุปมาด้วยด้ามมีด

[101] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความสิ้นไปแห่งอาสวะของ
บุคคลผู้รู้อยู่ เห็นอยู่ มิได้กล่าวความสิ้นไปแห่งอาสวะของบุคคลผู้ไม่รู้ ไม่เห็น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 17 หน้า :192 }