เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [1.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ 4. เถรวรรค 8. ฉันนสูตร

ของเราไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งอยู่ ไม่น้อมไปในธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง
เป็นที่สละอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่สำรอกราคะ เป็นที่ดับ(ทุกข์) เป็นที่ดับ
(ตัณหา) ความสะดุ้งกลัวและอุปาทานก็เกิดขึ้น ใจจึงท้อถอย เมื่อเป็นเช่นนี้ อะไรเล่าเป็น
อัตตาของเรา แต่ความคิดอย่างนี้ย่อมไม่มีแก่ผู้เห็นธรรม ใครเล่าจะแสดงธรรม
แก่เรา พอที่เราจะเห็นธรรมได้’
ท่านผู้มีอายุ ผมได้มีความคิดต่อไปว่า ‘ท่านอานนท์นี้อยู่ ณ โฆสิตาราม
เขตกรุงโกสัมพี ซึ่งพระศาสดาทรงสรรเสริญและเพื่อนพรหมจารีทั้งหลายผู้เป็น
วิญญูชนก็ยกย่อง จะสามารถแสดงธรรมแก่เรา พอที่เราจะเห็นธรรมได้ อนึ่ง เรา
ก็มีความคุ้นเคยในท่านอานนท์มาก ทางที่ดี เราควรเข้าไปหาท่านอานนท์ถึงที่อยู่’
ขอท่านอานนท์จงตักเตือน พร่ำสอน แสดงธรรมีกถาแก่ผม พอที่ผมจะเห็นธรรม
ได้เถิด”
ท่านพระอานนท์กล่าวว่า “แม้ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ผมก็พอใจยินดีกับท่านฉันนะ
ท่านฉันนะได้ทำความเห็นให้ชัดแจ้ง ทำลายความดื้อดึงแล้ว ท่านฉันนะ ท่านจงเงี่ย
โสตลง ท่านสมควรจะรู้ธรรมได้อย่างแจ่มแจ้ง”
ลำดับนั้น ปีติและปราโมทย์อย่างยิ่ง ได้เกิดขึ้นแก่ท่านพระฉันนะด้วยเหตุ
เพียงเท่านั้นว่า “เราสมควรจะรู้ธรรมได้อย่างแจ่มแจ้ง”
ท่านพระอานนท์กล่าวว่า “ท่านฉันนะ ผมได้สดับคำนี้มาเฉพาะพระพักตร์
ของพระผู้มีพระภาคผู้ตรัสสอนภิกษุกัจจานโคตรอยู่ว่า ‘กัจจานะ โดยมาก โลกนี้
อาศัยที่สุด 2 อย่าง คือ (1) ความมี (2) ความไม่มี
ก็เมื่อบุคคลเห็นความเกิดขึ้นของโลกด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง
ความไม่มีในโลกก็ไม่มี เมื่อบุคคลเห็นความดับของโลกด้วยปัญญาอันชอบตาม
ความเป็นจริง ความมีในโลกก็ไม่มี
กัจจานะ โดยมาก โลกนี้พัวพันอยู่ด้วยอุบายและความยึดมั่นอันเป็นเหตุ
ถือมั่น แต่อริยสาวกนี้ไม่เข้าไปยึดมั่นอุบายและความยึดมั่นอันเป็นเหตุที่ใจเข้าไปตั้ง
มั่นถือมั่นและนอนเนื่องว่า ‘อัตตาของเรา’ ไม่เคลือบแคลง ไม่สงสัยว่า ‘ทุกข์นั่น
แลเมื่อเกิดย่อมเกิดขึ้น ทุกข์เมื่อดับย่อมดับไป’ อริยสาวกนั้นมีญาณหยั่งรู้ในเรื่อง
นี้โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่นเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 17 หน้า :173 }