เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [1. ขันธสังยุต]
มูลปัณณาสก์ 1. นกุลปิตุวรรค 4. ทุติยหลิททิกานิสูตร

4. ทุติยหลิททิกานิสูตร
ว่าด้วยหลิททิกานิคหบดี สูตรที่ 2

[4] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัจจานะอยู่ ณ ภูเขาที่มีหน้าผาสูงชัน เขตเมือง
กุรรฆระ แคว้นอวันตี ครั้งนั้น คหบดีชื่อหลิททิกานิเข้าไปหาท่านพระมหากัจจานะ
ถึงที่อยู่ อภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้ถามท่านพระมหากัจจานะดังนี้ว่า
“ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้ในสักกปัญหา1ว่า ‘สมณ-
พราหมณ์ ผู้หลุดพ้นเพราะสิ้นตัณหาเท่านั้นจึงจะมีความสำเร็จขั้นสูงสุด2 มีความ
เกษมจากโยคะ3ขั้นสูงสุด มีพรหมจรรย์4ขั้นสูงสุด มีจุดหมาย5ขั้นสูงสุด เป็นผู้
ประเสริฐสุดกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย’ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เนื้อความแห่งพระ
ภาษิตที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยย่อนี้ พึงทราบโดยพิสดารอย่างไร”
พระมหากัจจานะได้กล่าวว่า “คหบดี ความพอใจ ความกำหนัด ความ
เพลิดเพลิน ความทะยานอยาก อุบายและความยึดมั่นอันเป็นเหตุที่ใจเข้าไปตั้งมั่น
ถือมั่นและนอนเนื่องในรูปธาตุ ท่านกล่าวว่า ‘จิตหลุดพ้นดีแล้ว’ เพราะความสิ้นไป
คลายกำหนัด ดับ สละ ปล่อยวางความพอใจเป็นต้นเหล่านั้น
ความพอใจ ความกำหนัด ... ในเวทนาธาตุ ฯลฯ ในสัญญาธาตุ ฯลฯ
ในสังขารธาตุ ฯลฯ
ความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก อุบาย
และความยึดมั่นอันเป็นเหตุที่ใจเข้าไปตั้งมั่นถือมั่นและนอนเนื่องในวิญญาณธาตุ
ท่านกล่าวว่า ‘จิตหลุดพ้นดีแล้ว’ เพราะความสิ้นไป คลายกำหนัด ดับ สละ
ปล่อยวางความพอใจเป็นต้นเหล่านั้น
คหบดี พระภาษิตที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ในสักกปัญหาว่า ‘สมณพราหมณ์
ผู้หลุดพ้นเพราะสิ้นตัณหาเท่านั้นจึงจะมีความสำเร็จขั้นสูงสุด มีความเกษมจากโยคะ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [1. ขันธสังยุต]
มูลปัณณาสก์ 1. นกุลปิตุวรรค 5. สมาธิสูตร

ขั้นสูงสุด มีพรหมจรรย์ขั้นสูงสุด มีจุดหมายขั้นสูงสุด เป็นผู้ประเสริฐสุดกว่า
เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย’
คหบดี เนื้อความแห่งพระภาษิตที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้โดยย่อนี้ พึงทราบ
โดยพิสดารอย่างนี้แล”

ทุติยหลิททิกานิสูตรที่ 4 จบ

5. สมาธิสูตร
ว่าด้วยสมาธิ

[5] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลาย
มาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มี
พระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิเถิด ภิกษุผู้มีจิตตั้งมั่น ย่อมรู้ชัด
ตามความเป็นจริง
รู้ชัดอะไรเล่าตามความเป็นจริง
คือ ภิกษุรู้ชัดความเกิดและความดับแห่งรูป ความเกิดและความดับแห่งเวทนา
ความเกิดและความดับแห่งสัญญา ความเกิดและความดับแห่งสังขาร ความเกิดและ
ความดับแห่งวิญญาณ
อะไรเป็นความเกิดแห่งรูป อะไรเป็นความเกิดแห่งเวทนา อะไรเป็น
ความเกิดแห่งสัญญา อะไรเป็นความเกิดแห่งสังขาร อะไรเป็นความเกิดแห่ง
วิญญาณ
คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เพลิดเพลิน เชยชม ยึดติด
ภิกษุเพลิดเพลิน เชยชม ยึดติดอะไรเล่า

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 17 หน้า :17 }