เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [1.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ 4. เถรวรรค 2. ติสสสูตร

ติสสะ เปรียบเหมือนบุรุษ 2 คน คนหนึ่งไม่ฉลาดในหนทาง คนหนึ่ง
ฉลาดในหนทาง บุรุษผู้ไม่ฉลาดในหนทางพึงถามทางกับบุรุษผู้ฉลาดในหนทาง
บุรุษผู้ฉลาดในหนทางพึงตอบว่า ‘ผู้เจริญ ท่านไปตามทางนี้อีกสักครู่ก็จักพบทาง
2 แพร่ง ในทาง 2 แพร่งนั้น ท่านจงละทางซ้าย ไปทางขวาเถิด ไปตามทาง
นั้นอีกสักครู่ก็จักพบราวป่าหนาทึบ ไปตามทางนั้นอีกสักครู่ก็จักพบที่ลุ่มใหญ่มีเปือกตม
ไปตามทางนั้นอีกสักครู่ก็จักพบบึงที่ลึก ไปตามทางนั้นอีกสักครู่ก็จักพบพื้นที่ราบ
น่ารื่นรมย์’
ติสสะ อุปมานี้เรายกมาเพื่อให้เข้าใจเนื้อความแจ่มชัด ในอุปมานั้นมีอธิบาย
ดังนี้
คำว่า บุรุษผู้ไม่ฉลาดในหนทาง นี้เป็นคำเรียกปุถุชน
คำว่า บุรุษผู้ฉลาดในหนทาง นี้เป็นคำเรียกตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
คำว่า ทาง 2 แพร่ง นี้เป็นคำเรียกวิจิกิจฉา
คำว่า ทางซ้าย นี้เป็นคำเรียกมิจฉามรรคมีองค์ 8 คือ (1) มิจฉาทิฏฐิ ฯลฯ
(8) มิจฉาสมาธิ
คำว่า ทางขวา นี้เป็นคำเรียกอริยมรรคมีองค์ 8 คือ (1) สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ
(8) สัมมาสมาธิ
คำว่า ราวป่าหนาทึบ นี้เป็นคำเรียกอวิชชา
คำว่า ที่ลุ่มใหญ่มีเปือกตม นี้เป็นคำเรียกกามทั้งหลาย
คำว่า บึงที่ลึก นี้เป็นคำเรียกความโกรธและความคับแค้นใจ
คำว่า พื้นที่ราบน่ารื่นรมย์ นี้เป็นคำเรียกนิพพาน
ติสสะ เธอจงยินดี ติสสะ เธอจงยินดีตามโอวาทที่เรากล่าวสอน ตามความ
อนุเคราะห์ที่เราอนุเคราะห์ ตามคำพร่ำสอนที่เราพร่ำสอนเถิด”
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระติสสะมีใจยินดีชื่นชมพระภาษิต
ของพระผู้มีพระภาค

ติสสสูตรที่ 2 จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [1.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ 4. เถรวรรค 3. ยมกสูตร

3. ยมกสูตร
ว่าด้วยพระยมกะ

[85] สมัยหนึ่ง ท่านพระสารีบุตรอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ภิกษุยมกะเกิดทิฏฐิชั่วเช่นนี้ว่า “เรารู้
ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ว่า ‘ภิกษุขีณาสพหลังจากตายแล้วย่อม
ขาดสูญ พินาศ ไม่เกิดอีก”
ภิกษุจำนวนมากได้ยินว่า “ภิกษุยมกะเกิดทิฏฐิชั่วเช่นนี้ว่า ‘เรารู้ทั่วถึงธรรม
ที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ว่า ‘ภิกษุขีณาสพหลังจากตายแล้วย่อมขาดสูญ พินาศ
ไม่เกิดอีก”
ต่อมา ภิกษุเหล่านั้นเข้าไปหาท่านพระยมกะถึงที่อยู่ ได้สนทนาปราศรัยพอ
เป็นที่บันเทิงใจ พอเป็นที่ระลึกถึงกันแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร ได้ถามท่านพระยมกะว่า
“ท่านยมกะ ทราบว่า ท่านเกิดทิฏฐิชั่วเช่นนี้ว่า ‘เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาค
ทรงแสดงไว้ว่า ‘ภิกษุขีณาสพหลังจากตายแล้วย่อมขาดสูญ พินาศ ไม่เกิดอีก’
จริงหรือ”
ท่านพระยมกะตอบว่า “จริง ขอรับ”
“ท่านยมกะ ท่านอย่าได้กล่าวอย่างนั้น อย่ากล่าวตู่พระผู้มีพระภาค เพราะ
การกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคไม่ดีเลย เพราะพระผู้มีพระภาคไม่พึงตรัสอย่างนี้ว่า
‘ภิกษุขีณาสพหลังจากตายแล้วย่อมขาดสูญ พินาศ ไม่เกิดอีก”
ท่านพระยมกะถูกภิกษุเหล่านั้นว่ากล่าวแม้อย่างนี้ ก็ยังยึดทิฏฐิชั่วนั้นอย่าง
มั่นคงกล่าวว่า “เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ว่า ‘ภิกษุขีณาสพ
หลังจากตายแล้วย่อมขาดสูญ พินาศ ไม่เกิดอีก”
ภิกษุเหล่านั้นไม่สามารถจะให้ท่านพระยมกะคลายทิฏฐิชั่วนั้นได้จึงพากันลุก
จากอาสนะเข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่แล้วกล่าวว่า “ข้าแต่ท่านสารีบุตร
พระยมกะเกิดทิฏฐิชั่วเช่นนี้ว่า ‘เรารู้ทั่วถึงธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงไว้ว่า
‘ภิกษุขีณาสพหลังจากตายแล้วย่อมขาดสูญ พินาศ ไม่เกิดอีก’ ขอโอกาส
ขอท่านพระสารีบุตรโปรดอาศัยความอนุเคราะห์เข้าไปหาภิกษุยมกะถึงที่อยู่เถิด”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 17 หน้า :147 }