เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [1.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ 3. ขัชชนียวรรค 10. ปุณณมสูตร

ไม่พิจารณาเห็นรูปโดยความเป็นอัตตา ไม่พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีรูป ไม่พิจารณา
เห็นรูปในอัตตา หรือไม่พิจารณาเห็นอัตตาในรูป ไม่พิจารณาเห็นเวทนา ... ไม่
พิจารณาเห็นสัญญา ... ไม่พิจารณาเห็นสังขาร ... ไม่พิจารณาเห็นวิญญาณโดย
ความเป็นอัตตา ไม่พิจารณาเห็นอัตตาว่ามีวิญญาณ ไม่พิจารณาเห็นวิญญาณใน
อัตตา หรือไม่พิจารณาเห็นอัตตาในวิญญาณ
ภิกษุ สักกายทิฏฐิมีไม่ได้อย่างนี้”

คุณ โทษ และเครื่องสลัดออกจากอุปาทานขันธ์

ภิกษุนั้นชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า “สาธุ พระพุทธเจ้าข้า”
แล้วได้ทูลถามปัญหายิ่งขึ้นไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรเป็นคุณ อะไรเป็นโทษ
อะไรเป็นเครื่องสลัดออกจากรูป ... เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... อะไรเป็นคุณ
อะไรเป็นโทษ อะไรเป็นเครื่องสลัดออกจากวิญญาณ”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ สภาพที่สุขโสมนัสอาศัยรูปเกิดขึ้น นี้
เป็นคุณของรูป สภาพที่รูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา นี้เป็น
โทษของรูป ธรรมเป็นที่กำจัดฉันทราคะ ธรรมเป็นที่ละฉันทราคะในรูป นี้เป็น
เครื่องสลัดออกจากรูป
สภาพที่สุขโสมนัสอาศัยเวทนาเกิดขึ้น ... อาศัยสัญญาเกิดขึ้น ... อาศัย
สังขารเกิดขึ้น ... สภาพที่สุขโสมนัสอาศัยวิญญาณเกิดขึ้น นี้เป็นคุณของวิญญาณ
สภาพที่วิญญาณไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรผันเป็นธรรมดา นี้เป็นโทษของ
วิญญาณ ธรรมเป็นที่กำจัดฉันทราคะ ธรรมเป็นที่ละฉันทราคะในวิญญาณ นี้เป็น
เครื่องสลัดออกจากวิญญาณ”

ความไม่มีอหังการ มมังการ และมานานุสัย

ภิกษุนั้นชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า “สาธุ พระพุทธเจ้าข้า”
แล้วได้ทูลถามปัญหายิ่งขึ้นไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อบุคคลรู้ เห็นอย่างไรจึง
จะไม่มีอหังการ มมังการ และมานานุสัยในกายที่มีวิญญาณนี้ และในนิมิตทั้งปวง
ในภายนอก”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 17 หน้า :138 }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [1.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ 3. ขัชชนียวรรค 10. ปุณณมสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต
อนาคต และปัจจุบัน ภายในหรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต
ไกลหรือใกล้ก็ตาม ภิกษุนั้นพิจารณาเห็นรูปทั้งหมดนั้นด้วยปัญญาอันชอบตาม
ความเป็นจริงอย่างนี้ว่า ‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’
เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ...
สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ...
สังขารเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ...
วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน ภายใน
.หรือภายนอก หยาบหรือละเอียด เลวหรือประณีต ไกลหรือใกล้ก็ตาม ภิกษุนั้น
พิจารณาเห็นวิญญาณทั้งหมดนั้นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า
‘นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่อัตตาของเรา’
ภิกษุ เมื่อบุคคลรู้ เห็นอย่างนี้จึงจะไม่มีอหังการ มมังการ และมานานุสัย
ในกายที่มีวิญญาณนี้ และในนิมิตทั้งปวงในภายนอก”

กรรมที่อนัตตากระทำถูกต้องอัตตา

สมัยนั้น ภิกษุรูปหนึ่งได้เกิดความคิดคำนึงอย่างนี้ว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย
ได้ยินว่า รูปเป็นอนัตตา เวทนา ... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณเป็นอนัตตา
เพราะเหตุนั้น กรรมที่ถูกอนัตตากระทำจักถูกต้องอัตตาได้อย่างไร”
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบความคิดคำนึงของภิกษุนั้นด้วยพระทัยแล้ว
ได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เป็นไปได้ที่โมฆบุรุษบางคนในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ไม่รู้แจ้ง
ตกอยู่ในอำนาจอวิชชา มีใจถูกตัณหาครอบงำ จะพึงเข้าใจสัตถุศาสน์ว่าเป็นคำ
สอนที่ควรคิดให้ตระหนักว่า ‘ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ได้ยินว่า รูปเป็นอนัตตา เวทนา
... สัญญา ... สังขาร ... วิญญาณเป็นอนัตตา เพราะเหตุนั้น กรรมที่ถูกอนัตตา
กระทำจักถูกต้องอัตตาได้อย่างไร’
ภิกษุทั้งหลาย เราได้แนะนำเธอทั้งหลายไว้แล้วด้วยการสอบถามในธรรม
เหล่านั้นในบาลีนั้น ๆ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 17 หน้า :139 }