เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [1.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ 3. ขัชชนียวรรค 10. ปุณณมสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ ถ้าเช่นนั้น เธอจงนั่งบนอาสนะของตน
แล้วถามปัญหาที่เธอต้องการจะถามเถิด”
ภิกษุนั้นทูลรับพระดำรัสแล้วนั่งบนอาสนะของตนได้ทูลถามปัญหากับพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุปาทานขันธ์ 5 ประการนี้ใช่ไหม คือ

1. รูปูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือรูป)
2. เวทนูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือเวทนา)
3. สัญญูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสัญญา)
4. สังขารูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสังขาร)
5. วิญญาณูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ)”

“ภิกษุ อุปาทานขันธ์ 5 ประการนี้แล คือ
1. รูปูปาทานขันธ์ ฯลฯ 5. วิญญาณูปาทานขันธ์”

มูลเหตุแห่งอุปาทานขันธ์ 5 ประการ

ภิกษุนั้นชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า “สาธุ พระพุทธเจ้าข้า”
แล้วได้ทูลถามปัญหายิ่งขึ้นไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุปาทานขันธ์ 5 ประการนี้
มีอะไรเป็นมูลเหตุ”
“ภิกษุ อุปาทานขันธ์ 5 ประการนี้ มีฉันทะเป็นมูลเหตุ” ฯลฯ
“อุปาทานกับอุปาทานขันธ์ 5 ประการเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าอุปาทาน
เป็นอย่างอื่นนอกจากอุปาทานขันธ์ 5 ประการ พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุ อุปาทานกับอุปาทานขันธ์ 5 ประการเป็นอย่างเดียวกันก็มิใช่ ทั้ง
อุปาทานเป็นอย่างอื่นนอกจากอุปาทานขันธ์ 5 ประการก็มิใช่ แต่ฉันทราคะใน
อุปาทานขันธ์ 5 ประการนั้นเป็นตัวอุปาทาน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 17 หน้า :135 }