เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [1.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ 3. ขัชชนียวรรค 10. ปุณณมสูตร

คงทน ไม่ผันแปร’ ทั้งไม่มีทิฏฐิอย่างนี้ว่า ‘ถ้าเราไม่พึงมี แม้บริขารของเราก็ไม่พึงมี
ถ้าเราจักไม่ได้มีแล้ว แม้บริขารของเราก็จักไม่มี’ แต่ยังมีความสงสัย เคลือบแคลง
ไม่แน่ใจในสัทธรรม ก็ความเป็นผู้สงสัย เคลือบแคลง ไม่แน่ใจในสัทธรรมนั้นจัด
เป็นสังขาร
สังขารนั้นมีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มี
อะไรเป็นแดนเกิด
คือ สังขารนั้นเกิดจากตัณหาที่เกิดขึ้นแก่ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับ ผู้ถูกความเสวย
อารมณ์ที่เกิดจากอวิชชาสัมผัสถูกต้องแล้ว เพราะเหตุนั้น แม้สังขารนั้นก็ไม่เที่ยง
ถูกปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น แม้ตัณหานั้นก็ไม่เที่ยง ถูกปัจจัยปรุงแต่ง
อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น แม้เวทนานั้นก็ไม่เที่ยง ถูกปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น
แม้ผัสสะนั้นก็ไม่เที่ยง ถูกปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น แม้อวิชชานั้นก็ไม่เที่ยง
ถูกปัจจัยปรุงแต่ง อาศัยปัจจัยเกิดขึ้น
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลรู้ เห็นอย่างนี้ อาสวะทั้งหลายจึงสิ้นไปโดยลำดับ”

ปาลิเลยยสูตรที่ 9 จบ

10. ปุณณมสูตร
ว่าด้วยพระธรรมเทศนาในคืนดวงจันทร์เต็มดวง

[82] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ปราสาทของนางวิสาขา-
มิคารมาตา ในบุพพาราม เขตกรุงสาวัตถี พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ สมัยนั้น
ในวันอุโบสถขึ้น 15 ค่ำ คืนดวงจันทร์เต็มดวง พระผู้มีพระภาคทรงมีภิกษุสงฆ์
แวดล้อม ประทับนั่งในที่แจ้ง
ครั้งนั้น ภิกษุรูปหนึ่งลุกจากอาสนะ ห่มผ้าเฉวียงบ่าประนมมือไปทางที่
พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขอทูลถามเหตุอย่างหนึ่งกับพระองค์ ถ้าพระผู้มีพระภาคทรง
ประทานวโรกาสที่จะตอบปัญหาแก่ข้าพระองค์”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 17 หน้า :134 }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [1.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ 3. ขัชชนียวรรค 10. ปุณณมสูตร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “ภิกษุ ถ้าเช่นนั้น เธอจงนั่งบนอาสนะของตน
แล้วถามปัญหาที่เธอต้องการจะถามเถิด”
ภิกษุนั้นทูลรับพระดำรัสแล้วนั่งบนอาสนะของตนได้ทูลถามปัญหากับพระผู้มี
พระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุปาทานขันธ์ 5 ประการนี้ใช่ไหม คือ

1. รูปูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือรูป)
2. เวทนูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือเวทนา)
3. สัญญูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสัญญา)
4. สังขารูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือสังขาร)
5. วิญญาณูปาทานขันธ์ (อุปาทานขันธ์คือวิญญาณ)”

“ภิกษุ อุปาทานขันธ์ 5 ประการนี้แล คือ
1. รูปูปาทานขันธ์ ฯลฯ 5. วิญญาณูปาทานขันธ์”

มูลเหตุแห่งอุปาทานขันธ์ 5 ประการ

ภิกษุนั้นชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคว่า “สาธุ พระพุทธเจ้าข้า”
แล้วได้ทูลถามปัญหายิ่งขึ้นไปว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อุปาทานขันธ์ 5 ประการนี้
มีอะไรเป็นมูลเหตุ”
“ภิกษุ อุปาทานขันธ์ 5 ประการนี้ มีฉันทะเป็นมูลเหตุ” ฯลฯ
“อุปาทานกับอุปาทานขันธ์ 5 ประการเป็นอย่างเดียวกัน หรือว่าอุปาทาน
เป็นอย่างอื่นนอกจากอุปาทานขันธ์ 5 ประการ พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุ อุปาทานกับอุปาทานขันธ์ 5 ประการเป็นอย่างเดียวกันก็มิใช่ ทั้ง
อุปาทานเป็นอย่างอื่นนอกจากอุปาทานขันธ์ 5 ประการก็มิใช่ แต่ฉันทราคะใน
อุปาทานขันธ์ 5 ประการนั้นเป็นตัวอุปาทาน”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 17 หน้า :135 }