เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [1.ขันธสังยุต]
มัชฌิมปัณณาสก์ 3. ขัชชนียวรรค 8.ปิณโฑลยสูตร

ให้ภิกษุเหล่านั้นเกรงกลัวเข้าไปเฝ้าทีละรูปบ้าง สองรูปบ้าง ต่างถวายอภิวาท
พระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่สมควร พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสกับภิกษุเหล่านั้น
ดังนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย การที่ภิกษุทุศีลเที่ยวบิณฑบาตเลี้ยงชีพนี้เป็นการกระทำที่
ต่ำทราม การที่ภิกษุทุศีลประพฤติเช่นนี้ ย่อมถูกชาวโลกด่าว่า ‘เจ้าคนนี้อุ้มบาตร
เที่ยวขอชาวโลกมาเลี้ยงชีพ’
กุลบุตรต่างเป็นผู้ตระหนักในเหตุ อาศัยความตระหนักในเหตุจึงเข้ามาใช้ชีวิต
เที่ยวขอก้อนข้าวนี้ มิใช่ถูกพระราชารับสั่งให้นำไปจองจำ มิใช่ถูกพวกโจรนำไปกักขัง
มิใช่เป็นลูกหนี้ มิใช่ตกอยู่ในห้วงอันตราย มิใช่จะยึดเป็นอาชีพ แท้ที่จริง กุลบุตร
เหล่านั้นเข้ามาบวชด้วยเหตุผลว่า ‘พวกเราต่างถูกชาติ (ความเกิด) ชรา (ความแก่)
มรณะ (ความตาย) โสกะ (ความเศร้าโศก) ปริเทวะ (ความคร่ำครวญ) ทุกข์
(ความทุกข์กาย) โทมนัส (ความทุกข์ใจ) และอุปายาส (ความคับแค้นใจ) ทับถม
ครอบงำ จมปลักอยู่ในทุกข์ สาละวนอยู่กับทุกข์ ทำอย่างไรเล่า การทำที่สุดแห่ง
กองทุกข์ทั้งมวลนี้ จะพึงปรากฏได้’
กุลบุตรนี้เป็นผู้บวชด้วยเหตุผลตามที่กล่าวมาแล้วนี้ แต่แล้วกุลบุตรนั้นกลับ
เกิดความละโมบ กำหนัดยินดีอย่างแรงกล้าในกาม มีจิตพยาบาท คิดประทุษร้าย
ลงลืมสติ ไม่รู้สึกตัว มีจิตไม่ตั้งมั่น มีจิตกระสับกระส่าย ไม่สำรวมอินทรีย์
บุคคลผู้เสื่อมจากโภคะของคฤหัสถ์ และไม่สามารถบำเพ็ญประโยชน์สำหรับ
ความเป็นสมณะให้บริบูรณ์ได้ เราเรียกว่า เป็นเหมือนท่อนไม้ที่ถูกทิ้งไว้ในป่าช้า
ไฟไหม้ทั้ง 2 ข้าง ตรงกลางเปื้อนคูถ ย่อมไม่อำนวยประโยชน์เป็นเครื่องเรือน1
ทั้งไม่อำนวยประโยชน์เป็นอุปกรณ์ในป่า2
ภิกษุทั้งหลาย อกุศลวิตก 3 ประการ คือ
1. กามวิตก (ความตรึกในกาม)
2. พยาบาทวิตก (ความตรึกในพยาบาท)
3. วิหิงสาวิตก (ความตรึกในการเบียดเบียน)