เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค [1. ขันธสังยุต]
มูลปัณณาสก์ 1. นกุลปิตุวรรค 3. หลิททิกานิสูตร

ท่านพระมหากัจจานะตอบว่า “คหบดี รูปธาตุเป็นที่อาศัยแห่งวิญญาณ
วิญญาณที่ผูกพันกับราคะในรูปธาตุ ตรัสเรียกว่า ‘ผู้เที่ยวซ่านไปหาที่อยู่’
เวทนาธาตุเป็นที่อาศัยแห่งวิญญาณ วิญญาณที่ผูกพันกับราคะในเวทนาธาตุ
ตรัสเรียกว่า ‘ผู้เที่ยวซ่านไปหาที่อยู่’
สัญญาธาตุเป็นที่อาศัยแห่งวิญญาณ วิญญาณที่ผูกพันกับราคะในสัญญาธาตุ
ตรัสเรียกว่า ‘ผู้เที่ยวซ่านไปหาที่อยู่’
สังขารธาตุเป็นที่อาศัยแห่งวิญญาณ วิญญาณที่ผูกพันกับราคะในสังขารธาตุ
ตรัสเรียกว่า ‘ผู้เที่ยวซ่านไปหาที่อยู่’
คหบดี บุคคลผู้เที่ยวซ่านไปหาที่อยู่ เป็นอย่างนี้แล
บุคคลผู้ไม่เที่ยวซ่านไปหาที่อยู่ เป็นอย่างไร
คือ ความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก
อุบายและความยึดมั่นอันเป็นเหตุที่ใจเข้าไปตั้งมั่นถือมั่นและนอนเนื่องในรูปธาตุ
พระตถาคตทรงละได้เด็ดขาด ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคน
ไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น บัณฑิตจึงเรียกพระ
ตถาคตว่า ‘ผู้ไม่ทรงเที่ยวซ่านไปหาที่อยู่’
ความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก อุบาย
และความยึดมั่นอันเป็นเหตุที่ใจเข้าไปตั้งมั่นถือมั่นและนอนเนื่องในเวทนาธาตุ ฯลฯ
ในสัญญาธาตุ ฯลฯ ในสังขารธาตุ ฯลฯ
ความพอใจ ความกำหนัด ความเพลิดเพลิน ความทะยานอยาก อุบาย
และความยึดมั่นอันเป็นเหตุที่ใจเข้าไปตั้งมั่นถือมั่นและนอนเนื่องในวิญญาณธาตุ
พระตถาคตทรงละได้เด็ดขาด ตัดรากถอนโคน เหมือนต้นตาลที่ถูกตัดรากถอนโคน
ไปแล้ว เหลือแต่พื้นที่ ทำให้ไม่มี เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ ฉะนั้น บัณฑิตจึงเรียกพระ
ตถาคตว่า ‘ผู้ไม่ทรงเที่ยวซ่านไปหาที่อยู่’
คหบดี บุคคลผู้ไม่เที่ยวซ่านไปหาที่อยู่ เป็นอย่างนี้แล
บุคคลผู้เที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย เป็นอย่างไร
คือ ความเที่ยวซ่านไปหาและความผูกพันกับที่อาศัย คือรูปนิมิต ตรัสเรียกว่า
‘ผู้เที่ยวซ่านไปหาที่อาศัย’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 17 หน้า :12 }