เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [1. นิทานสังยุต]
1. พุทธวรรค 3. ปฏิปทาสูตร

3. ปฏิปทาสูตร
ว่าด้วยปฏิปทา

[3] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ... เขตกรุงสาวัตถี
“ภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงมิจฉาปฏิปทา(ข้อปฏิบัติผิด) และสัมมาปฏิปทา
(ข้อปฏิบัติถูก) แก่เธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุ
เหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสเรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย มิจฉาปฏิปทา เป็นอย่างไร
คือ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย สังขารจึงมี
เพราะสังขารเป็นปัจจัย วิญญาณจึงมี
ฯลฯ
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีได้ด้วยประการฉะนี้
นี้เรียกว่า มิจฉาปฏิปทา1
ภิกษุทั้งหลาย สัมมาปฏิปทา เป็นอย่างไร
คือ เพราะอวิชชาดับไปไม่เหลือด้วยวิราคะ สังขารจึงดับ
เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ
ฯลฯ
ความดับแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ มีได้ด้วยประการฉะนี้
นี้เรียกว่า สัมมาปฏิปทา”

ปฏิปทาสูตรที่ 3 จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [1. นิทานสังยุต] 1. พุทธวรรค 4. วิปัสสีสูตร

4. วิปัสสีสูตร
ว่าด้วยพระพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี

[4] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ... เขตกรุงสาวัตถี
“ภิกษุทั้งหลาย พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าวิปัสสี
ก่อนแต่ตรัสรู้เมื่อเป็นพระโพธิสัตว์ ยังไม่ได้ตรัสรู้ ได้มีความคิดคำนึงอย่างนี้ว่า
‘โลก1นี้ถึงความคับแค้น จึงเกิด แก่ ตาย จุติ และอุบัติ ก็บุคคลไม่รู้อุบายสลัดออก
จากทุกข์คือชราและมรณะนี้ เมื่อไรจึงจะพ้นจากทุกข์คือชราและมรณะนี้ได้’
จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรมี ชราและมรณะจึงมี เพราะอะไรเป็นปัจจัย
ชราและมรณะจึงมี’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญา
ว่า ‘เมื่อชาติมี ชราและมรณะจึงมี เพราะชาติเป็นปัจจัย ชราและมรณะจึงมี’
จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรมี ชาติจึงมี เพราะอะไรเป็นปัจจัย ชาติ
จึงมี’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า ‘เมื่อภพมี
ชาติจึงมี เพราะภพเป็นปัจจัย ชาติจึงมี’
จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรมี ภพจึงมี เพราะอะไรเป็นปัจจัย ภพจึงมี’
เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า ‘เมื่ออุปาทานมี
ภพจึงมี เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย ภพจึงมี’
จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรมี อุปาทานจึงมี เพราะอะไรเป็นปัจจัย
อุปาทานจึงมี’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า
‘เมื่อตัณหามี อุปาทานจึงมี เพราะตัณหาเป็นปัจจัย อุปาทานจึงมี’
จากนั้น ทรงพระดำริว่า ‘เมื่ออะไรมี ตัณหาจึงมี เพราะอะไรเป็นปัจจัย
ตัณหาจึงมี’ เพราะทรงมนสิการโดยแยบคาย จึงได้ทรงรู้แจ้งด้วยพระปัญญาว่า
‘เมื่อเวทนามี ตัณหาจึงมี เพราะเวทนาเป็นปัจจัย ตัณหาจึงมี’