เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [10. ภิกขุสังยุต] 5. สุชาตสูตร

ส่วนภิกษุหนุ่มรูปนี้เป็นอุดมบุรุษ
ชนะมารพร้อมทั้งกองทัพได้แล้ว
ทรงไว้ซึ่งอัตภาพสุดท้าย”

นวสูตรที่ 4 จบ

5. สุชาตสูตร
ว่าด้วยพระสุชาต

[239] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระสุชาตเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับ พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านกำลังเดินมาแต่ไกล แล้วรับสั่ง
เรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรนี้ย่อมงามด้วยสมบัติ 2 ประการ คือ
1. มีรูปงาม น่าดู น่าชม ประกอบด้วยผิวพรรณงามยิ่งนัก
2. ได้ทำให้แจ้งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่เหล่า
กุลบุตรออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญา
อันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถา
ประพันธ์ต่อไปอีกว่า
“ภิกษุนี้งามด้วยใจที่ซื่อตรง
เป็นผู้หลุดพ้น พรากได้แล้ว ดับแล้ว
เพราะไม่ถือมั่น ชนะมารพร้อมทั้งกองทัพได้แล้ว
ทรงไว้ซึ่งอัตภาพสุดท้าย”

สุชาตสูตรที่ 5 จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [10. ภิกขุสังยุต] 6. ลกุณฏกภัททิยสูตร

6. ลกุณฏกภัททิยสูตร
ว่าด้วยพระลกุณฏภัททิยะ1

[240] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระลกุณฏกภัททิยะเข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านกำลังเดินมาแต่ไกล
แล้วรับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายเห็นภิกษุผู้มีผิวพรรณไม่งาม ไม่น่าดู เตี้ย เป็นผู้ถูก
ภิกษุทั้งหลายดูแคลน ที่กำลังเดินมานั้นหรือ”
“เห็น พระพุทธเจ้าข้า”
“ภิกษุนั้นมีฤทธานุภาพมาก อนึ่ง สมาบัติที่เธอไม่เคยเข้า เธอก็เข้าได้โดยง่าย
และเธอได้ทำให้แจ้งประโยชน์ยอดเยี่ยมอันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ที่เหล่ากุลบุตร
ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตโดยชอบต้องการด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน”
พระผู้มีพระภาคผู้สุคตศาสดา ครั้นตรัสเวยยากรณภาษิตนี้แล้ว จึงได้ตรัสคาถา
ประพันธ์ต่อไปอีกว่า
“สัตว์ทั้งหลาย จำพวกหงส์ นกกระเรียน นกยูง
ช้าง เนื้อฟาน ทั้งหมด ย่อมกลัวราชสีห์
ความสมดุลกันทางกายไม่มี ฉันใด
บรรดาหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้น ถ้าคนหนุ่มมีปัญญา
เขาก็ย่อมเป็นใหญ่ในหมู่มนุษย์นั้น
ไม่เหมือนคนพาล ซึ่งถือกายเป็นใหญ่”

ลกุณฏกภัททิยสูตรที่ 6 จบ