เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [6. ลาภสักการสังยุต]
1. ปฐมวรรค 2. พฬิสสูตร

2. พฬิสสูตร
ว่าด้วยลาภสักการะและความสรรเสริญเปรียบเหมือนเบ็ด

[158] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ... เขตกรุงสาวัตถี ...
“ภิกษุทั้งหลาย ลาภสักการะและความสรรเสริญเป็นสิ่งทารุณ เผ็ดร้อน
หยาบคาย เป็นอันตรายต่อการบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะ ซึ่งไม่มีธรรมอื่น
ยิ่งกว่า เปรียบเหมือนปลาบางตัวเห็นแก่เหยื่อ กลืนกินเบ็ดที่เกี่ยวเหยื่อซึ่งพรานเบ็ด
หย่อนลงในห้วงน้ำลึก มันกลืนกินเบ็ดของพรานเบ็ดอย่างนี้แล้ว ได้รับทุกข์ ถึงความ
พินาศ ถูกพรานเบ็ดทำได้ตามใจปรารถนาฉะนั้น”
คำว่า ‘พรานเบ็ด’ นี้ เป็นชื่อของมารใจบาป คำว่า ‘เบ็ด’ นี้ เป็นชื่อของลาภ
สักการะและความสรรเสริญ ภิกษุบางรูปยินดี พอใจลาภสักการะและความสรรเสริญ
ที่เกิดขึ้นแล้ว ภิกษุนี้เรากล่าวว่า กลืนกินเบ็ดของมาร ได้รับทุกข์ ถึงความพินาศ
ถูกมารใจบาปทำได้ตามใจปรารถนา
ภิกษุทั้งหลาย ลาภสักการะและความสรรเสริญเป็นสิ่งทารุณ เผ็ดร้อน หยาบคาย
เป็นอันตรายต่อการบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะ ซึ่งไม่มีธรรมอื่นยิ่งกว่าอย่างนี้
เพราะฉะนั้น เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า ‘เราทั้งหลายจักละลาภสักการะและความ
สรรเสริญที่เกิดขึ้น ลาภสักการะและความสรรเสริญที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิต
ของเราทั้งหลายตั้งอยู่’ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้”

พฬิสสูตรที่ 2 จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [6. ลาภสักการสังยุต]
1. ปฐมวรรค 3. กุมมสูตร

3. กุมมสูตร
ว่าด้วยภิกษุติดลาภสักการะและความสรรเสริญเปรียบเหมือนเต่าถูกเชือกมัด

[159] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ... เขตกรุงสาวัตถี ...
“ภิกษุทั้งหลาย ลาภสักการะและความสรรเสริญเป็นสิ่งทารุณ ฯลฯ ต่อการ
บรรลุธรรม เรื่องเคยมีมาแล้ว มีตระกูลเต่าใหญ่อาศัยอยู่ในห้วงน้ำแห่งหนึ่งมานาน
ครั้งหนึ่ง เต่าตัวหนึ่งเข้าไปหาเต่าอีกตัวหนึ่งถึงที่อยู่พูดว่า ‘พ่อเต่า เจ้าอย่าได้ไปยัง
ท้องถิ่นนั้นนะ’
เต่าตัวนั้นได้ไปยังท้องถิ่นนั้นแล้ว ถูกนายพรานยิงด้วยลูกดอก ลำดับนั้นเต่า
ตัวที่ถูกยิงเข้าไปหาเต่าตัวนั้นถึงที่อยู่ เต่าตัวนั้นได้เห็นเต่าตัวที่ถูกยิงกำลังเดินมาแต่ไกล
จึงถามว่า
“พ่อเต่า เจ้าไม่ได้ไปท้องถิ่นนั้นหรือ”
“พ่อเต่า ฉันได้ไปท้องถิ่นนั้นมาแล้ว”
“พ่อเต่า เจ้าไม่บาดเจ็บ ไม่ถูกทุบตีดอกหรือ”
“ฉันไม่บาดเจ็บ ไม่ถูกทุบตี แต่ฉันมีเชือกเส้นหนึ่งติดหลังมานี้”
เต่าตัวนั้นกล่าวว่า “เอาเถอะพ่อเต่า เจ้าไม่บาดเจ็บ ไม่ถูกทุบตีก็ตามเถิด แต่บิดา
มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ของเจ้าได้รับทุกข์ ถึงความพินาศ เพราะเชือกเส้นนี้แหละ
ไปเดี๋ยวนี้ เจ้าไม่ใช่พวกของเราแล้ว”
คำว่า ‘พราน’ นี้ เป็นชื่อของมารใจบาป คำว่า ‘ลูกดอก’ นี้ เป็นชื่อของลาภ
สักการะและความสรรเสริญ คำว่า ‘เชือก’ นี้ เป็นชื่อของนันทิราคะ
ภิกษุบางรูปยินดี พอใจลาภสักการะและความสรรเสริญที่เกิดขึ้นแล้ว ภิกษุ
นี้เราเรียกว่า ได้รับทุกข์ ถึงความพินาศ เพราะลาภสักการะและความสรรเสริญ
อันเปรียบเหมือนลูกดอก ถูกมารใจบาปทำได้ตามใจปรารถนา
ภิกษุทั้งหลาย ลาภสักการะและความสรรเสริญเป็นสิ่งทารุณ ฯลฯ อย่างนี้
เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้”

กุมมสูตรที่ 3 จบ