เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [5. กัสสปสังยุต] 12. ปรัมมรณสูตร

“ท่านผู้มีอายุ ข้อที่ว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกหรือ’ นี้พระผู้มี
พระภาคมิได้ทรงพยากรณ์ไว้”
“หลังจากตายแล้ว ตถาคตไม่เกิดอีกหรือ”
“แม้ข้อที่ว่า ‘หลังจากตายแล้วตถาคตไม่เกิดอีกหรือ’ นี้พระผู้มีพระภาคก็มิได้
ทรงพยากรณ์ไว้”
“หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกและไม่เกิดอีกหรือ”
“ข้อที่ว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกและไม่เกิดอีกหรือ’ นี้พระผู้มีพระภาค
ก็มิได้ทรงพยากรณ์ไว้”
“หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกก็มิใช่ ไม่เกิดอีกก็มิใช่หรือ”
“แม้ข้อที่ว่า ‘หลังจากตายแล้ว ตถาคตเกิดอีกก็มิใช่ ไม่เกิดอีกก็มิใช่หรือ’
นี้พระผู้มีพระภาคก็มิได้ทรงพยากรณ์ไว้”
“เพราะเหตุไร ข้อที่กล่าวถึงนั้น ๆ พระผู้มีพระภาคจึงมิได้ทรงพยากรณ์ไว้”
“เพราะข้อนั้นไม่มีประโยชน์ ไม่เป็นเบื้องต้นแห่งการประพฤติพรหมจรรย์
ไม่เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง
เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงมิได้ทรงพยากรณ์ไว้”
“ถ้าเช่นนั้น พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ไว้อย่างไรเล่า”
“พระผู้มีพระภาคทรงพยากรณ์ไว้ว่า ‘นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ
นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา”1
“เพราะเหตุไร ข้อนี้พระผู้มีพระภาคจึงทรงพยากรณ์ไว้”
“ท่านผู้มีอายุ เพราะข้อนั้นมีประโยชน์ เป็นเบื้องต้นแห่งการประพฤติพรหมจรรย์
เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับ เพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง
เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคจึงทรงพยากรณ์ไว้”

ปรัมมรณสูตรที่ 12 จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [5. กัสสปสังยุต] 13. สัทธัมมัปปฏิรูปกสูตร

13. สัทธัมมัปปฏิรูปกสูตร
ว่าด้วยสัทธรรมปฏิรูป

[156] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปะเข้าไปเฝ้าพระผู้มี
พระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาค
ดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้ เมื่อก่อนสิกขาบท
มีน้อย ภิกษุผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตผลมีมาก และอะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้ บัดนี้
สิกขาบทมีมาก แต่ภิกษุตั้งอยู่ในอรหัตตผลมีน้อย”
“กัสสปะ ข้อนั้นเป็นอย่างนี้ คือ เมื่อหมู่สัตว์เสื่อมลง สัทธรรมก็เสื่อมสูญไป
สิกขาบทจึงมีมาก และภิกษุตั้งอยู่ในอรหัตตผลจึงมีน้อย สัทธรรมปฏิรูปยังไม่เกิดขึ้น
ในโลกตราบใด ตราบนั้นสัทธรรมก็ยังไม่เสื่อมสูญไป แต่เมื่อใดสัทธรรมปฏิรูปเกิดขึ้น
ในโลก เมื่อนั้นสัทธรรมย่อมเสื่อมสูญไป
ทองคำปลอมยังไม่เกิดขึ้นในโลกตราบใด ตราบนั้นทองคำแท้ก็ยังไม่หายไป
และเมื่อใดทองคำปลอมเกิดขึ้นในโลก เมื่อนั้นทองคำแท้จึงหายไปฉันใด สัทธรรม-
ปฏิรูปยังไม่เกิดขึ้นในโลกตราบใด ตราบนั้นสัทธรรมก็ยังไม่เสื่อมสูญไป แต่เมื่อใด
สัทธรรมปฏิรูปเกิดขึ้นในโลก เมื่อนั้นสัทธรรมย่อมเสื่อมสูญไป ฉันนั้นเหมือนกัน
ปฐวีธาตุ(ธาตุดิน)ทำสัทธรรมให้เสื่อมสูญไปไม่ได้ อาโปธาตุ(ธาตุน้ำ) เตโชธาตุ
(ธาตุไฟ) วาโยธาตุ(ธาตุลม) ก็ทำสัทธรรมให้เสื่อมสูญไปไม่ได้ ที่แท้โมฆบุรุษในโลกนี้
ต่างหากเกิดขึ้นมาย่อมทำให้สัทธรรมเสื่อมสูญไป เปรียบเหมือนเรือจะอับปางก็เพราะ
ต้นหนเท่านั้น สัทธรรมย่อมไม่เสื่อมสูญไป ด้วยประการฉะนี้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 16 หน้า :262 }