เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [5. กัสสปสังยุต] 9. ฌานาภิญญสูตร

กัสสปะ แท้จริงบุคคลเมื่อจะกล่าวถึงคนใดคนหนึ่งให้ถูกต้อง ควรกล่าวว่า
ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ถูกอันตรายของผู้ประพฤติพรหมจรรย์เบียดเบียนแล้ว
ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ซึ่งมีความปรารถนาเกินประมาณ ถูกความปรารถนาการ
ประพฤติพรหมจรรย์เกินประมาณเบียดเบียนแล้ว บัดนี้ บุคคลเมื่อจะกล่าวถึงคนนั้น
ให้ถูกต้อง ควรกล่าวว่า ‘ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ถูกอันตรายของผู้ประพฤติพรหมจรรย์
เบียดเบียนแล้ว ผู้ประพฤติพรหมจรรย์ซึ่งมีความปรารถนาเกินประมาณ ถูกความ
ปรารถนาการประพฤติพรหมจรรย์เกินประมาณเบียดเบียนแล้ว”

ตติยโอวาทสูตรที่ 8 จบ

9. ฌานาภิญญสูตร
ว่าด้วยฌานและอภิญญา

[152] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ... เขตกรุงสาวัตถี ...
“ภิกษุทั้งหลาย เราสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌาน
ที่มีวิตกวิจาร ปีติและสุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ได้ตราบเท่าที่เราต้องการ แม้กัสสปะ
ก็สงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌานที่มีวิตกวิจาร ปีติและ
สุขอันเกิดจากวิเวกอยู่ได้ตราบเท่าที่เธอต้องการเช่นกัน
เพราะวิตกวิจารสงบระงับไป เราบรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสในภายใน
มีภาวะที่จิตเป็นหนึ่งผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดจากสมาธิอยู่
ได้ตราบเท่าที่เราต้องการ เพราะวิตก วิจารสงบระงับไป แม้กัสสปะก็บรรลุทุติยฌาน
ฯลฯ อยู่ได้ตราบเท่าที่เธอต้องการเช่นกัน
เพราะปีติจางคลายไป เรามีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย
บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา
มีสติ อยู่เป็นสุขได้’ ตราบเท่าที่เราต้องการ เพราะปีติจางคลายไป แม้กัสสปะเป็น
ผู้มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะ
ทั้งหลายสรรเสริญว่า ‘ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ อยู่เป็นสุขได้’ ตราบเท่าที่
เธอต้องการเช่นกัน

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 16 หน้า :250 }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [5. กัสสปสังยุต] 9. ฌานาภิญญสูตร

เพราะละสุขและทุกข์ได้แล้ว เพราะโสมนัสและโทมนัสดับไปก่อน เราบรรลุ
จตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา อยู่ได้ตราบเท่าที่เรา
ต้องการ เพราะละสุขและทุกข์ได้แล้ว แม้กัสสปะก็บรรลุจตุตถฌาน ฯลฯ อยู่ได้
ตราบเท่าที่เธอต้องการเช่นกัน
เราบรรลุอากาสานัญจายตนะ ด้วยมนสิการว่า ‘อากาศไม่มีที่สุด’ เพราะล่วง
รูปสัญญา ดับปฏิฆสัญญา ไม่มนสิการนานัตตสัญญาโดยประการทั้งปวง อยู่ได้
ตราบเท่าที่เราต้องการ แม้กัสสปะก็บรรลุอากาสานัญจายตนะ ฯลฯ เพราะล่วง
รูปสัญญา ไม่มนสิการโดยประการทั้งปวง อยู่ได้ตราบเท่าที่เธอต้องการเช่นกัน
เราบรรลุวิญญาณัญจายตนะ ด้วยมนสิการว่า ‘วิญญาณไม่มีที่สุด’ เพราะล่วง
อากาสานัญจายตนะโดยประการทั้งปวง อยู่ได้ตราบเท่าที่เราต้องการ แม้กัสสปะ
ก็บรรลุวิญญาณัญจายตนะ ด้วยมนสิการว่า ‘วิญญาณไม่มีที่สุด’ เพราะล่วง
อากาสานัญจายตนะโดยประการทั้งปวง อยู่ได้ตราบเท่าที่เธอต้องการเช่นกัน
เราบรรลุอากิญจัญญายตนะ ด้วยมนสิการว่า ‘อะไรน้อยหนึ่งย่อมไม่มี’
เพราะล่วงวิญญาณัญจายตนะโดยประการทั้งปวง อยู่ได้ตราบเท่าที่เราต้องการ
แม้กัสสปะก็บรรลุ ฯลฯ อยู่ได้ตราบเท่าที่เธอต้องการเช่นกัน
เราบรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนะ เพราะล่วงอากิญจัญญายตนะโดยประการ
ทั้งปวง อยู่ได้ตราบเท่าที่เราต้องการ แม้กัสสปะก็บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนะ
ฯลฯ อยู่ได้ตราบเท่าที่เธอต้องการเช่นกัน
เราบรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ เพราะล่วงเนวสัญญานาสัญญายตนะโดยประการ
ทั้งปวง อยู่ได้ตราบเท่าที่เราต้องการ แม้กัสสปะก็บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ ฯลฯ
เราแสดงฤทธิ์ได้หลายอย่าง คือคนเดียวแสดงเป็นหลายคนก็ได้ หลายคน
แสดงเป็นคนเดียวก็ได้ แสดงให้ปรากฏก็ได้ หรือให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง (และ)
ภูเขา ไปได้ไม่ติดขัด เหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นหรือดำลงในแผ่นดินเหมือนไป
ในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำโดยที่น้ำไม่แยก เหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ นั่งขัดสมาธิเหาะไป
ในอากาศเหมือนนกบินไปก็ได้ ใช้ฝ่ามือลูบคลำดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์อันมีฤทธิ์มาก
มีอานุภาพมากก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปจนถึงพรหมโลกก็ได้ตราบเท่าที่เราต้องการ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 16 หน้า :251 }