เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [1. นิทานสังยุต]
2. อาหารวรรค 4. ทุติยสมณพราหมณสูตร

ไม่รู้ชัดธรรมเหล่าไหน ไม่รู้ชัดความเกิดแห่งธรรมเหล่าไหน ไม่รู้ชัดความดับ
แห่งธรรมเหล่าไหน ไม่รู้ชัดปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งธรรมเหล่าไหน
คือ ไม่รู้ชัดชราและมรณะ ไม่รู้ชัดความเกิดแห่งชราและมรณะ ไม่รู้ชัดความดับ
แห่งชราและมรณะ ไม่รู้ชัดปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งชราและมรณะ ไม่รู้ชัดชาติ ฯลฯ
ไม่รู้ชัดภพ ... อุปาทาน ... ตัณหา ... เวทนา ... ผัสสะ ... สฬายตนะ ... นามรูป
... วิญญาณ ...
ไม่รู้ชัดสังขารทั้งหลาย ไม่รู้ชัดความเกิดแห่งสังขาร ไม่รู้ชัดความดับแห่งสังขาร
ไม่รู้ชัดปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งสังขาร ไม่รู้ชัดธรรมเหล่านี้ ไม่รู้ชัดความเกิดแห่ง
ธรรมเหล่านี้ ไม่รู้ชัดความดับแห่งธรรมเหล่านี้ ไม่รู้ชัดปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่ง
ธรรมเหล่านี้
สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้น ไม่จัดว่าเป็นสมณะในหมู่สมณะ หรือไม่จัดว่าเป็น
พราหมณ์ในหมู่พราหมณ์ ทั้งท่านเหล่านั้นก็ไม่ทำให้แจ้งประโยชน์ของความเป็นสมณะ
และประโยชน์ของความเป็นพราหมณ์ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน
สมณะหรือพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง รู้ชัดธรรมเหล่านี้ รู้ชัดความเกิดแห่ง
ธรรมเหล่านี้ รู้ชัดความดับแห่งธรรมเหล่านี้ รู้ชัดปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งธรรม
เหล่านี้
รู้ชัดธรรมเหล่าไหน รู้ชัดความเกิดแห่งธรรมเหล่าไหน รู้ชัดความดับแห่งธรรม
เหล่าไหน รู้ชัดปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งธรรมเหล่าไหน
คือ รู้ชัดชราและมรณะ รู้ชัดความเกิดแห่งชราและมรณะ รู้ชัดความดับแห่งชรา
และมรณะ รู้ชัดปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งชราและมรณะ รู้ชัดชาติ ฯลฯ
รู้ชัดภพ ... อุปาทาน ... ตัณหา ... เวทนา ... ผัสสะ ... สฬายตนะ ... นามรูป ...
วิญญาณ ...

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 16 หน้า :23 }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [1. นิทานสังยุต]
2. อาหารวรรค 5.กัจจานโคตตสูตร

รู้ชัดสังขารทั้งหลาย รู้ชัดความเกิดแห่งสังขาร รู้ชัดความดับแห่งสังขาร รู้ชัด
ปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งสังขาร รู้ชัดธรรมเหล่านี้ รู้ชัดความเกิดแห่งธรรมเหล่านี้
รู้ชัดความดับแห่งธรรมเหล่านี้ รู้ชัดปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งธรรมเหล่านี้
ภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์เหล่านั้นจัดว่าเป็นสมณะในหมู่สมณะ
และจัดว่าเป็นพราหมณ์ในหมู่พราหมณ์ ทั้งท่านเหล่านั้นก็ได้ทำให้แจ้งประโยชน์ของ
ความเป็นสมณะ และประโยชน์ของความเป็นพราหมณ์ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึง
อยู่ในปัจจุบัน”

ทุติยสมณพราหมณสูตรที่ 4 จบ

5. กัจจานโคตตสูตร
ว่าด้วยพระกัจจานโคตร

[15] พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ... เขตกรุงสาวัตถี
ครั้งนั้น ท่านพระกัจจานโคตรเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวาย
อภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่สมควร ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่พระองค์ตรัสว่า ‘สัมมาทิฏฐิ สัมมาทิฏฐิ’ นี้ ด้วยเหตุ
เพียงเท่าไรหนอจึงเรียกว่าสัมมาทิฏฐิ”
“กัจจานะ โดยมากโลกนี้อาศัยที่สุด 2 อย่าง คือ (1) ความมี (2) ความไม่มี
ก็เมื่อบุคคลเห็นความเกิดขึ้นของโลกด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง
ความไม่มีในโลก ก็ไม่มี เมื่อบุคคลเห็นความดับแห่งโลกด้วยปัญญาอันชอบตาม
ความเป็นจริง ความมีในโลก ก็ไม่มี
กัจจานะ โดยมากโลกนี้ยังพัวพันอยู่ด้วยอุบายและความยึดมั่นอันเป็นเหตุที่
ใจเข้าไปตั้งมั่นถือมั่นและนอนเนื่อง แต่อริยสาวกไม่เข้าไปถือมั่นอุบายและความยึดมั่น
อันเป็นเหตุที่ใจเข้าไปตั้งมั่นถือมั่นและนอนเนื่องว่า ‘อัตตาของเรา’ ไม่เคลือบแคลง
ไม่สงสัยว่า ‘ทุกข์นั้นแล เมื่อเกิดขึ้น ย่อมเกิดขึ้น ทุกข์เมื่อดับ ย่อมดับไป’ อริยสาวก
นั้นมีญาณหยั่งรู้ในเรื่องนี้โดยไม่ต้องเชื่อผู้อื่นเลย

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 16 หน้า :24 }