เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [1. นิทานสังยุต] 7. มหาวรรค 6. สัมมสสูตร

... ได้รู้ชัดอุปาทาน ... ได้รู้ชัดตัณหา ... ได้รู้ชัดเวทนา ... ได้รู้ชัดผัสสะ ... ได้รู้ชัด
สฬายตนะ ... ได้รู้ชัดนามรูป ... ได้รู้ชัดวิญญาณ ... เราได้ดำเนินตามทางนั้นแล้ว
ขณะดำเนินไป ได้รู้ชัดสังขารทั้งหลาย ได้รู้ชัดความเกิดแห่งสังขาร ได้รู้ชัดความ
ดับแห่งสังขาร ได้รู้ชัดปฏิปทาที่ให้ถึงความดับแห่งสังขาร ครั้นได้รู้ชัดอริยมรรค
มีองค์ 8 นั้นแล้ว เราจึงบอกแก่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา
ภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์นี้จึงได้บริบูรณ์ กว้างขวาง รู้จักกันโดยมาก มั่นคงดี
กระทั่งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายประกาศได้ดีแล้ว”

นครสูตรที่ 5 จบ

6. สัมมสสูตร
ว่าด้วยการพิจารณาปัจจัยภายใน

[66] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิคมของชาวกุรุ ชื่อว่ากัมมาสทัมมะ
แคว้นกุรุ ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคได้รับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า “ภิกษุ
ทั้งหลาย” ภิกษุเหล่านั้นทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัส
เรื่องนี้ว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพิจารณาปัจจัยภายในกันบ้างหรือ”
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสถามอย่างนี้แล้ว ภิกษุรูปหนึ่งได้กราบทูลพระผู้มีพระภาค
ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ย่อมพิจารณาปัจจัยภายใน”
“เธอพิจารณาปัจจัยภายในอย่างไร”
ลำดับนั้น ภิกษุรูปนั้นก็ได้ทูลเล่าถวายให้ทรงทราบ (แต่)ไม่เป็นที่พอพระทัย
ของพระผู้มีพระภาค
เมื่อเธอกราบทูลอย่างนั้นแล้ว ท่านพระอานนท์ก็ได้กราบทูลว่า “ข้าแต่พระ
ผู้มีพระภาค ถึงเวลาที่จะทรงแสดงเรื่องนี้แล้ว ข้าแต่พระสุคต ถึงเวลาที่จะทรงแสดง
เรื่องนี้แล้ว ภิกษุทั้งหลายได้ฟังปัจจัยภายในที่พระองค์ตรัสไว้แล้วก็จักทรงจำไว้”

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 16 หน้า :129 }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค [1. นิทานสังยุต] 7. มหาวรรค 6. สัมมสสูตร

“อานนท์ ถ้าเช่นนั้นเธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว” ภิกษุเหล่านั้น
ทูลรับสนองพระดำรัสแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาปัจจัย
ภายในว่า ‘ชราและมรณะนี้ใด มีทุกข์หลายอย่างนับไม่ถ้วนเกิดขึ้นในโลก ชราและ
มรณะที่เป็นทุกข์นี้มีอะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็น
แดนเกิด เมื่ออะไรมี ชราและมรณะจึงมี เมื่ออะไรไม่มี ชราและมรณะจึงไม่มี’
เธอพิจารณาอยู่ จึงรู้อย่างนี้ว่า ‘ชราและมรณะนี้ใด มีทุกข์หลายอย่างนับไม่ถ้วนเกิด
ขึ้นในโลก ชราและมรณะที่เป็นทุกข์นี้ มีอุปธิ1เป็นเหตุ มีอุปธิเป็นเหตุเกิด มีอุปธิเป็น
กำเนิด มีอุปธิเป็นแดนเกิด เมื่ออุปธิมี ชราและมรณะจึงมี เมื่ออุปธิไม่มี ชราและ
มรณะจึงไม่มี’ เธอรู้ชัดชราและมรณะ รู้ชัดความเกิดแห่งชราและมรณะ รู้ชัดความ
ดับแห่งชราและมรณะ และรู้ชัดปฏิปทาอันเหมาะสมที่ให้ถึงความดับแห่งชราและมรณะ
และเธอผู้ปฏิบัติอย่างนั้น ชื่อว่าผู้มีปกติประพฤติตามธรรม เราเรียกภิกษุนี้ว่า เป็นผู้
ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์ เพื่อความดับแห่งชราและมรณะโดยชอบทุกประการ
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาปัจจัยภายในว่า ‘อุปธินี้มี
อะไรเป็นเหตุ มีอะไรเป็นเหตุเกิด มีอะไรเป็นกำเนิด มีอะไรเป็นแดนเกิด เมื่ออะไรมี
อุปธิจึงมี เมื่ออะไรไม่มี อุปธิจึงไม่มี’ เธอพิจารณาอยู่จึงรู้อย่างนี้ว่า ‘อุปธิมีตัณหา
เป็นเหตุ มีตัณหาเป็นเหตุเกิด มีตัณหาเป็นกำเนิด มีตัณหาเป็นแดนเกิด เมื่อ
ตัณหามี อุปธิจึงมี เมื่อตัณหาไม่มี อุปธิจึงไม่มี’ เธอรู้ชัดอุปธิ รู้ชัดความเกิด
แห่งอุปธิ รู้ชัดความดับแห่งอุปธิ และรู้ชัดปฏิปทาอันเหมาะสมที่ให้ถึงความดับ
แห่งอุปธิ และเธอผู้ปฏิบัติอย่างนั้น ชื่อว่าผู้มีปกติประพฤติตามธรรม เราเรียก
ภิกษุนี้ว่า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความสิ้นทุกข์ เพื่อความดับแห่งอุปธิโดยชอบทุกประการ
อีกประการหนึ่ง ภิกษุเมื่อพิจารณา ย่อมพิจารณาปัจจัยภายในว่า ‘ตัณหานี้
เมื่อเกิด ย่อมเกิดขึ้นในที่ไหน เมื่อตั้งอยู่ ย่อมตั้งอยู่ในที่ไหน’ เธอพิจารณาอยู่จึงรู้
อย่างนี้ว่า ‘รูปที่เป็นปิยรูป2 เป็นสาตรูป3ใดมีอยู่ในโลก ตัณหาเมื่อเกิดขึ้นย่อม
เกิดขึ้นในรูปนั้น เมื่อตั้งอยู่ย่อมตั้งอยู่ในรูปนั้น ก็อะไรเล่าเป็นปิยรูป เป็นสาตรูปในโลก