เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [1. เทวดาสังยุต]
4. สตุลลปกายิกวรรค 4. นสันติสูตร

ความทุกข์ย่อมไม่รุมเร้าคนนั้น ผู้ไม่ติดอยู่ในนามรูป
ผู้ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล1
ภิกษุละบัญญัติแล้ว ไม่เข้าถึงวิมาน
ตัดตัณหาในนามรูปนี้ได้แล้ว
เทวดาและมนุษย์ในโลกนี้ก็ดี ในโลกอื่นก็ดี
ในสวรรค์ก็ดี ในสถานที่อันเป็นที่อาศัยแห่งสัตว์ทั้งปวงก็ดี
พากันเที่ยวค้นหาก็ไม่พบภิกษุนั้น
ผู้ตัดเครื่องผูกขาดแล้ว ไม่มีความทุกข์ ไม่มีตัณหา
(ท่านพระโมฆราชทูลถามว่า)
หากเทวดาและมนุษย์เหล่าใดในโลกนี้หรือในโลกอื่น
ไม่ได้เห็นภิกษุนั้นผู้อุดมกว่านรชน
ผู้บำเพ็ญประโยชน์เพื่อนรชน ผู้หลุดพ้นอย่างนั้น
นอบน้อมภิกษุนั้นอยู่
เทวดาและมนุษย์เหล่านั้นบัณฑิตควรสรรเสริญหรือ
(พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ภิกษุโมฆราช)
เทวดาและมนุษย์แม้เหล่านั้นบัณฑิตควรสรรเสริญ
เทวดาและมนุษย์เหล่าใดนอบน้อมภิกษุผู้หลุดพ้นอย่างนั้น
เทวดาและมนุษย์แม้เหล่านั้นรู้ธรรมแล้ว ละวิจิกิจฉาได้
เป็นผู้ข้ามพ้นธรรมเป็นเครื่องข้องได้

นสันติสูตรที่ 4 จบ


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [1. เทวดาสังยุต]
4. สตุลลปกายิกวรรค 5. อุชฌานสัญญิสูตร

5. อุชฌานสัญญิสูตร
ว่าด้วยพวกเทวดาผู้มุ่งหมายจะเพ่งโทษ

[35] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี ครั้นเมื่อราตรีผ่านไป พวกเทวดาผู้มุ่งหมาย
จะเพ่งโทษจำนวนมากมีวรรณะงดงามยิ่งนัก เปล่งรัศมีให้สว่างทั่วพระเชตวัน
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ยืนอยู่ในอากาศ
เทวดาองค์หนึ่งยืนอยู่ในอากาศได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระผู้มีพระภาคว่า
บุคคลใด ตนเป็นอย่างหนึ่ง
กลับประกาศให้เขารู้อีกอย่างหนึ่ง
บุคคลนั้นชื่อว่าลวงเขาบริโภคโดยความเป็นขโมย
เหมือนพรานนกลวงจับนก ฉะนั้น
ความจริง บุคคลทำกรรมใด ควรพูดถึงกรรมนั้น
ไม่ทำกรรมใด ก็ไม่ควรพูดถึงกรรมนั้น
บัณฑิตทั้งหลายรู้จักบุคคลผู้ไม่ทำ ดีแต่พูด
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ใคร ๆ ไม่อาจดำเนินปฏิปทานี้
ด้วยเหตุสักว่าพูด หรือฟังอย่างเดียว
ผู้มีปัญญาทั้งหลายมีความเพียรเพ่งพินิจ
ย่อมพ้นจากเครื่องผูกของมารด้วยปฏิปทาอันมั่นคงนี้
ผู้มีปัญญาทั้งหลายทราบความเป็นไปของโลก
รู้ชัด ดับกิเลสได้แล้ว ข้ามพ้นตัณหาเป็นเครื่องข้องในโลกแล้ว
ย่อมไม่พูดโดยแท้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 15 หน้า :45 }