เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [11. สักกสังยุต]
3. ตติยวรรค 3. สัมพริมายาสูตร

ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพประทับนั่งบนที่ประทับของพระองค์แล้ว เมื่อจะ
ทรงทำให้พวกเทพชั้นดาวดึงส์ยินดี จึงตรัสคาถาเหล่านี้ในเวลานั้นว่า
เราเป็นผู้มีจิตไม่ถูกโทสะกระทบกระทั่ง
เป็นผู้ที่ใคร ๆ จะชักนำไปไม่ได้ง่าย
เราไม่โกรธใครมานานแล้ว ความโกรธไม่ฝังอยู่ในใจเรา
ถึงเราโกรธก็ไม่กล่าวคำหยาบ และคำไม่ชอบเป็นอันขาด
เราเห็นประโยชน์ตน จึงบังคับตนได้”

ทุพพัณณิยสูตรที่ 2 จบ

3. สัมพริมายาสูตร
ว่าด้วยมายาของจอมอสูร

[269] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
“ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ท้าวเวปจิตติจอมอสูรเจ็บไข้ ได้รับทุกข์
เจ็บไข้หนัก ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพเสด็จไปเยี่ยมท้าวเวปจิตติจอมอสูรถึงที่อยู่
ตรัสถามถึงความเจ็บไข้ ท้าวเวปจิตติจอมอสูรเห็นท้าวสักกะจอมเทพกำลังเสด็จมา
แต่ไกลเทียวได้กล่าวกับท้าวสักกะจอมเทพว่า ‘ท่านจอมเทพ ขอจงช่วยรักษาข้าพเจ้า
ด้วยเถิด’
ท้าวสักกะตรัสว่า ‘ท่านท้าวเวปจิตติ ขอเชิญบอกมายาของจอมอสูรให้
ข้าพเจ้าทราบก่อน’
ท้าวเวปจิตติกล่าวว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ ข้าพเจ้ายังบอกท่านไม่ได้ จนกว่าจะได้
สอบถามพวกอสูรดูก่อน’
ลำดับนั้น ท้าวเวปจิตติจอมอสูรสอบถามพวกอสูรว่า ‘ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย
เราจะบอกมายาของจอมอสูรให้ท้าวสักกะจอมเทพทราบ’

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 15 หน้า :393 }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [11. สักกสังยุต] 3. ตติยวรรค 4. อัจจยสูตร

พวกอสูรทูลว่า ‘ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ พระองค์อย่าตรัสบอกมายาของ
จอมอสูรแก่ท้าวสักกะจอมเทพเลย’
ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น ท้าวเวปจิตติจอมอสูรได้กล่าวกับท้าวสักกะจอมเทพ
ด้วยคาถาว่า
ท่านท้าวมฆวาสุชัมบดีเทวราช
บุคคลผู้มีมายาย่อมเข้าถึงนรกครบ 100 ปี
เหมือนจอมอสูร ฉะนั้น”

สัมพริมายาสูตรที่ 3 จบ

4. อัจจยสูตร
ว่าด้วยโทษ

[270] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ภิกษุ 2 รูปได้โต้เถียงกัน ในการ
โต้เถียงกันนั้น ภิกษุรูปหนึ่งได้พูดล่วงเกิน ครั้งนั้น ภิกษุผู้พูดล่วงเกินนั้นขอโทษ
ในที่อยู่ของภิกษุนั้น แต่ภิกษุนั้นไม่ยกโทษให้ ลำดับนั้น ภิกษุจำนวนมาก
พากันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควร
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอประทานวโรกาส
ภิกษุ 2 รูปโต้เถียงกัน ในการโต้เถียงกันนั้น ภิกษุรูปหนึ่งได้พูดล่วงเกิน ลำดับนั้น
ภิกษุผู้พูดล่วงเกินขอโทษในที่อยู่ของภิกษุนั้น แต่ภิกษุนั้นไม่ยกโทษให้ พระพุทธเจ้าข้า”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย คนพาล 2 จำพวกนี้ คือ
1. ผู้ไม่เห็นโทษว่าเป็นโทษ
2. ผู้ไม่ยกโทษให้ตามสมควรแก่ธรรมเมื่อผู้อื่นขอโทษ
คนพาล 2 จำพวกนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย บัณฑิต 2 จำพวกนี้ คือ
1. ผู้เห็นโทษว่าเป็นโทษ
2. ผู้ยกโทษให้ตามสมควรแก่ธรรมเมื่อผู้อื่นขอโทษ
บัณฑิต 2 จำพวกนี้แล

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 15 หน้า :394 }