เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [11. สักกสังยุต]
2. ทุติยวรรค 9. ทุติยสักกนมัสสนสูตร

ท้าวมฆวาสุชัมบดีเทวราช ผู้เป็นประมุข
ครั้นตรัสดังนี้แล้ว ทรงนอบน้อมทิศทั้ง 4
เสด็จขึ้นราชรถกลับไป”

ปฐมสักกนมัสสนสูตรที่ 8 จบ

9. ทุติยสักกนมัสสนสูตร
ว่าด้วยการนอบน้อมของท้าวสักกะ สูตรที่ 2

[265] เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถี
“ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว ท้าวสักกะจอมเทพรับสั่งกับมาตลีสังคาหก-
เทพบุตรว่า ‘สหายมาตลี ท่านจงจัดเตรียมรถซึ่งเทียมด้วยม้าอาชาไนย 1,000 ตัว
เราจะไปยังพื้นที่อุทยานเพื่อชมภูมิภาคอันงดงาม’
มาตลีสังคาหกเทพบุตรทูลรับพระดำรัสแล้ว จัดเตรียมรถม้าซึ่งเทียมด้วย
ม้าอาชาไนย 1,000 ตัว เสร็จแล้วกราบทูลแก่ท้าวสักกะจอมเทพว่า ‘ข้าแต่พระองค์
ผู้นิรทุกข์ รถซึ่งเทียมด้วยม้าอาชาไนย 1,000 ตัว สำหรับพระองค์ จัดเตรียมไว้
เสร็จแล้ว ขอพระองค์ทรงทราบกาลอันควรในบัดนี้เถิด’
ได้ทราบว่า ครั้งนั้น ท้าวสักกะจอมเทพขณะเสด็จลงจากเวชยันต์ปราสาท
ทรงประนมมือนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอยู่ ครั้งนั้น มาตลีสังคาหกเทพบุตรได้ทูล
ถามท้าวสักกะจอมเทพด้วยคาถาว่า
ข้าแต่ท้าววาสวะ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
ย่อมนอบน้อมพระองค์เท่านั้น ข้าแต่ท้าวสักกะ
เมื่อเป็นเช่นนั้น พระองค์ทรงนอบน้อมท่านผู้ควรบูชาคนใด
ท่านผู้ควรบูชาคนนั้น คือใครเล่า
ท้าวสักกะตรัสตอบว่า
มาตลี พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใด
ในโลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 15 หน้า :386 }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [11. สักกสังยุต]
2. ทุติยวรรค 9. ทุติยสักกนมัสสนสูตร

เรานอบน้อมพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ผู้เป็นศาสดา ผู้มีพระนามไม่ต่ำต้อย
มาตลี บุคคลเหล่าใดกำจัดราคะ โทสะ
และอวิชชาได้แล้ว บุคคลเหล่านั้นสิ้นอาสวะแล้ว
เป็นพระอรหันต์ เรานอบน้อมบุคคลเหล่านั้น
มาตลี บุคคลเหล่าใดกำจัดราคะ โทสะ
ก้าวล่วงอวิชชาได้ แต่ยังเป็นพระเสขะอยู่
ยินดีในธรรมอันเป็นเครื่องปราศจากการสั่งสม
เป็นผู้ไม่ประมาท ตามศึกษาอยู่
เรานอบน้อมบุคคลเหล่านั้น
มาตลีสังคาหกเทพบุตรกราบทูลว่า
ข้าแต่ท้าวสักกะ ได้ยินว่า
พระองค์ทรงนอบน้อมบุคคลเหล่าใด
บุคคลเหล่านั้นเป็นผู้ประเสริฐที่สุดในโลก
ข้าแต่ท้าววาสวะ พระองค์ทรงนอบน้อมบุคคลเหล่าใด
แม้ข้าพระองค์ก็ขอนอบน้อมบุคคลเหล่านั้นเหมือนกัน
ท้าวมฆวาสุชัมบดีเทวราช ผู้เป็นประมุข
ครั้นตรัสดังนี้แล้ว ทรงนอบน้อมพระผู้มีพระภาค
เสด็จขึ้นราชรถกลับไป”

ทุติยสักกนมัสสนสูตรที่ 9 จบ