เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [11. สักกสังยุต]
1. ปฐมวรรค 5. สุภาสิตชยสูตร

ลำดับนั้น ท้าวเวปจิตติจอมอสูรได้กล่าวกับท้าวสักกะจอมเทพดังนี้ว่า
‘ท่านจอมเทพ ท่านจงตรัสคาถาขึ้นก่อน’ เมื่อท้าวเวปจิตติกล่าวเช่นนี้ ท้าวสักกะ
จอมเทพได้ตรัสกับท้าวเวปจิตติจอมอสูรว่า ‘ท่านท้าวเวปจิตติ ท่านเป็นเทพใน
เทวโลกนี้มาก่อน ฉะนั้น ขอให้ท่านจงกล่าวคาถาก่อน เมื่อท้าวสักกะตรัสเช่นนี้แล้ว
ท้าวเวปจิตติจอมอสูรได้กล่าวคาถานี้ว่า
พวกคนพาลพึงทำลายได้ทุกสิ่งทุกอย่าง
ถ้าเราไม่กีดกันไว้เสียก่อน
เพราะฉะนั้น ธีรชนพึงกีดกันพวกคนพาลไว้
ด้วยอาชญาอย่างรุนแรง
เมื่อท้าวเวปจิตติจอมอสูรได้กล่าวคาถานี้แล้ว พวกอสูรพากันอนุโมทนา
พวกเทพต่างก็พากันนิ่งเฉย ลำดับนั้น ท้าวเวปจิตติจอมอสูรได้กล่าวกับท้าวสักกะ
จอมเทพว่า ‘ท่านจอมเทพ ท่านจงกล่าวคาถาเถิด’ เมื่อท้าวเวปจิตติกล่าวเช่นนี้แล้ว
ท้าวสักกะจอมเทพได้กล่าวคาถานี้ว่า
ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธ เป็นผู้มีสติ สงบใจไว้ได้
เราเห็นว่า การสงบใจไว้ได้ของผู้นั้น
เป็นการกีดกันพวกคนพาลไว้ได้
เมื่อท้าวสักกะจอมเทพได้กล่าวคาถานี้แล้ว พวกเทพก็พากันอนุโมทนา พวกอสูร
ก็พากันนิ่งเฉย ลำดับนั้น ท้าวสักกะจอมเทพได้ตรัสกับท้าวเวปจิตติจอมอสูรดังนี้ว่า
‘ท้าวเวปจิตติ ท่านจงกล่าวคาถาต่อไปเถิด’ เมื่อท้าวสักกะตรัสเช่นนี้ ท้าวเวปจิตติ
จอมอสูรได้กล่าวคาถานี้ว่า
ท่านท้าววาสวะ ข้าพเจ้าเห็นคุณ
และโทษในความอดกลั้นนี้ว่า
เมื่อใด คนพาลเข้าใจบุคคลนั้นว่า
ผู้นี้ย่อมอดกลั้นต่อเราเพราะความกลัว
เมื่อนั้น คนมีปัญญาทรามก็ยิ่งข่มขี่ผู้นั้น
เหมือนโคตัวที่มีกำลังข่มขี่โคตัวที่แพ้ให้หนีไป ฉะนั้น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 15 หน้า :367 }


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [11. สักกสังยุต]
1. ปฐมวรรค 5. สุภาสิตชยสูตร

เมื่อท้าวเวปจิตติจอมอสูรกล่าวคาถานี้แล้ว พวกอสูรพากันอนุโมทนา พวกเทพ
ต่างก็นิ่งเฉย ลำดับนั้น ท้าวเวปจิตติจอมอสูรได้กล่าวกับท้าวสักกะจอมเทพดังนี้ว่า
‘ท่านจอมเทพ ท่านจงกล่าวคาถาต่อไปเถิด’ เมื่อท้าวเวปจิตติจอมอสูรกล่าวเช่นนี้
ท้าวสักกะจอมเทพได้ตรัสคาถาเหล่านี้ว่า
บุคคลจะเข้าใจว่าผู้นี้อดกลั้นต่อเราได้
เพราะความกลัวหรือไม่ก็ตามที
ประโยชน์ทั้งหลายของตนเป็นอย่างยิ่ง
ประโยชน์ที่ยิ่งกว่าขันติไม่มี
บุคคลใดเป็นคนแข็งแรง
อดกลั้นต่อผู้อ่อนแรงกว่าได้
ความอดกลั้นของบุคคลนั้น
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวว่าเป็นขันติอย่างยิ่ง
เพราะว่าบุคคลผู้แข็งแรงจำต้องอดทนอยู่เอง
กำลังของบุคคลใดไม่เข้มแข็ง
บัณฑิตทั้งหลายกล่าวถึงกำลังของบุคคลนั้นว่า ไม่ใช่กำลัง
เพราะว่าไม่มีบุคคลใดกล่าวโต้ตอบบุคคลผู้มีกำลัง
และมีธรรมคุ้มครองแล้ว
ผู้ใดโกรธตอบต่อบุคคลผู้โกรธ
ผู้นั้นย่อมเลวกว่าผู้โกรธ เพราะการโกรธตอบนั้น
บุคคลผู้ไม่โกรธตอบต่อบุคคลผู้โกรธ
ชื่อว่าชนะสงครามที่ชนะได้ยาก
ผู้ใดรู้ว่าผู้อื่นโกรธ เป็นผู้มีสติ สงบใจไว้ได้
ผู้นั้นชื่อว่าประพฤติประโยชน์ของคนทั้ง 2 ฝ่าย
คือฝ่ายตนและฝ่ายผู้อื่น

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 15 หน้า :368 }