เมนู

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [10. ยักขสังยุต] 7. ปุนัพพสุสูตร

6. ปิยังกรสูตร
ว่าด้วยปิยังกรยักษ์

[240] สมัยหนึ่ง ท่านพระอนุรุทธะอยู่ในพระเชตวัน อารามของอนาถ-
บิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระอนุรุทธะลุกขึ้นในเวลาใกล้รุ่งแล้ว
สวดบทแแห่งธรรมทั้งหลายอยู่ ครั้งนั้น นางยักษิณีผู้เป็นมารดาของปิยังกระ ปลอบบุตร
น้อยอย่างนี้ว่า
ปิยังกระ อย่าส่งเสียงไปเลย
ภิกษุกำลังสวดบทแห่งธรรมทั้งหลายอยู่
อนึ่ง เรารู้แจ้งบทแห่งธรรมแล้วปฏิบัติ
ข้อนั้นจะเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่เรา
ปิยังกระกล่าวว่า
เราไม่เบียดเบียนสัตว์มีชีวิตทั้งหลาย
ไม่กล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่
ศึกษาทำตนให้เป็นคนมีศีลดี
จึงจะพ้นจากกำเนิดปีศาจ1

ปิยังกรสูตรที่ 6 จบ

7. ปุนัพพสุสูตร
ว่าด้วยปุนัพพสุยักษ์

[241] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตกรุงสาวัตถี สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคทรงชี้แจงให้ภิกษุ
ทั้งหลายเห็นชัด ชวนใจให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ เร้าใจให้อาจหาญแกล้วกล้า ปลอบ
ชโลมใจให้สดชื่นร่าเริงด้วยธรรมีกถาอันประกอบด้วยนิพพาน ส่วนภิกษุเหล่านั้นต่าง
ก็ใส่ใจให้สำเร็จประโยชน์ น้อมนึกมาด้วยความเต็มใจ เงี่ยโสตสดับธรรมอยู่ ครั้งนั้น
นางยักษิณีผู้เป็นมารดาของปุนัพพสุ ปลอบบุตรน้อยอย่างนี้ว่า


พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค [10. ยักขสังยุต] 7. ปุนัพพสุสูตร

ลูกอุตรา เจ้าจงนิ่งเถิด
ลูกปุนัพพสุ เจ้าจงนิ่งเถิด
จนกว่าแม่จะฟังพระธรรมของพระพุทธเจ้า
ผู้ประเสริฐ ผู้เป็นพระศาสดา
พระผู้มีพระภาคตรัสนิพพาน
อันเป็นเครื่องเปลื้องตนจากกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งปวง
เวลาที่ปรารถนาในธรรมนี้จะล่วงเลยแม่ไป
ลูกของตนเป็นที่รักในโลก
สามีของตนเป็นที่รักในโลก
แต่ความปรารถนาในธรรมนี้
เป็นที่รักของแม่ยิ่งกว่าลูกและสามีนั้น
เพราะว่าลูกหรือสามีที่รัก
จะพึงปลดเปลื้องแม่จากทุกข์ไม่ได้
ส่วนการฟังธรรมย่อมปลดเปลื้องสัตว์ทั้งหลายจากทุกข์ได้
เมื่อโลกถูกทุกข์ครอบงำอยู่ ประกอบแล้วด้วยชราและมรณะ
เราต้องการฟังธรรมที่ทำให้ตรัสรู้เพื่อจะพ้นจากชราและมรณะ
ลูกปุนัพพสุ เจ้าจงนิ่งเถิด
ปุนัพพสุพูดว่า
แม่ เราจักไม่พูด อุตรานี้ก็จักนิ่ง
ท่านจงใส่ใจถึงธรรมอย่างเดียว
การฟังพระสัทธรรมจงเป็นความสุข
แม่ เราไม่รู้พระสัทธรรม จึงได้เที่ยวไปลำบาก
พระพุทธเจ้าพระองค์นี้เป็นผู้ทำความสว่างให้
แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลายผู้ลุ่มหลง
พระองค์เหลือแต่พระสรีระในชาติสุดท้าย
มีพระจักษุ แสดงธรรมอยู่

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 15 หน้า :345 }